พุทธวจน (บาลีวันละคำ 4,551)

พุทธวจน
อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร
คำที่ยกขึ้นตั้งไว้นั้น สะกดเป็น “พุทธวจน”
มีปัญหาที่ถกเถียงกันว่า ถ้าสะกด-คือเขียนอย่างนี้ จะอ่านว่าอย่างไร คือถามว่า ผู้สะกดอย่างนี้มีเจตนาจะให้อ่านคำนี้ว่าอย่างไร
ตามที่ได้ยินอ่าน หรือเรียก หรือพูดกันทั่วไป ชื่อนี้ออกเสียงว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ
ประเด็นสงสัยคือ “พุทธวจน” ถ้าต้องการให้อ่านว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ —
(1) ทำไมจึงไม่สะกดตามวิธีเขียนคำไทยทั่วไป คือสะกดเป็น “พุทธวจนะ” (ใส่สระ อะ หลัง น หนู) หรือ –
(2) ทำไมจึงไม่สะกดตามวิธีเขียนคำบาลี คือสะกดเป็น “พุทฺธวจน” (มีจุดใต้ ท ทหาร ไม่มีสระ อะ หลัง น หนู)
ถ้าสะกดเป็น “พุทธวจนะ” (ใส่สระ อะ หลัง น หนู) คนไทยทั่วไปที่อ่านหนังสือออก เห็นคำนี้ก็จะต้องอ่านว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ สมตามเจตนา
ถ้าสะกดเป็น “พุทฺธวจน” (มีจุดใต้ ท ทหาร ตามวิธีเขียนคำบาลี) คนไทยที่เรียนภาษาบาลีหรือรู้ภาษาบาลี เห็นคำนี้ก็จะต้องอ่านว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ สมตามเจตนา
แต่เมื่อสะกดเป็น “พุทธวจน”
ไม่มีจุดใต้ ท ทหาร
และไม่มีสระ อะ หลัง น หนู
คนไทยที่เห็นคำนี้ก็ย่อมจะงง อ่านเจตนาไม่ออกว่าเป็นการสะกดแบบไหนกันแน่ และต้องการให้อ่านว่าอย่างไรกันแน่

ถ้าเอาคำที่คนอ่านกันทั่วไปเป็นคำตอบ (คือคนอ่านกันทั่วไปว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ) ผู้ที่ตั้งใจสะกดอย่างนี้ก็ย่อมตอบได้ว่า สะกดเป็น “พุทธวจน” (ไม่มีจุดใต้ ท ทหาร และไม่มีสระ อะ หลัง น หนู) ก็มีคนอ่านว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ สมตามเจตนาแล้ว จะต้องให้สะกดเป็นอย่างไรกันอีกเล่า
เพราะฉะนั้น สะกดเป็น “พุทธวจน” (ไม่มีจุดใต้ ท ทหาร และไม่มีสระ อะ หลัง น หนู) อย่างนี้แหละดีแล้ว ใครจะว่าอย่างไรก็เชิญว่ากันไปตามสบายเถิด ข้าพเจ้าไม่เดือดร้อน
แต่ถ้าเอาหลักการเขียนคำบาลีและหลักการเขียนคำไทยเป็นคำตอบหรือเป็นหลัก ก็คงต้องพูดกันอีกหลายคำ
คำแรกที่ต้องถามก็คือ ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาและตั้งใจสะกดอย่างนี้ ต้องการสะกดตามหลักการเขียนคำบาลี หรือต้องการสะกดตามหลักการเขียนคำไทย ทั้งนี้เพราะหลักการเขียนคำบาลีกับหลักการเขียนคำไทยนั้นไม่เหมือนกัน เช่นในคำที่สะกดเป็น “พุทธวจน” นี่เอง —
คำว่า “พุทธ” ถ้าต้องการสะกดตามหลักการเขียนคำไทย สะกดอย่างนี้ถูกต้องแล้ว ถ้าอยู่เดี่ยว ๆ หรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า พุด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นในที่นี้มีคำว่า “วจน” มาสมาสข้างท้าย ก็อ่านว่า พุด-ทะ- ต่อด้วยคำที่มาสมาส
แต่คำว่า “พุทธ” นี่เอง ถ้าต้องการสะกดตามหลักการเขียนคำบาลี ต้องใส่จุดใต้ ท ทหาร คือสะกดเป็น “พุทฺธ” จึงจะอ่านว่า พุด-ทะ ได้ ถ้าสะกดเป็น “พุทธ” (ไม่มีจุดใต้ ท ทหาร) อ่านว่า พุด-ทะ ไม่ได้ ต้องอ่านว่า พุ-ทะ-ทะ ซึ่งคำที่สะกดอย่างนี้อ่านอย่างนี้ไม่มีในภาษาบาลี
คำว่า “วจน” ในที่นี้ก็ทำนองเดียวกัน —
ถ้าต้องการสะกดตามหลักการเขียนคำบาลี สะกดอย่างนี้ถูกต้องแล้ว คนที่รู้ว่าคำนี้สะกดตามหลักคำบาลี เห็นคำนี้ก็จะอ่านว่า -วะ-จะ-นะ คือออกเสียงเหมือนมีสระ อะ กำกับอยู่ด้วยทุกพยางค์ เพราะเป็นกฎการอ่านคำที่สะกดเป็นบาลี
แต่คำว่า “วจน” นี่เอง ถ้าต้องการสะกดตามหลักการเขียนคำไทยและต้องการให้อ่านว่า วะ-จะ-นะ ก็ต้องใส่สระ อะ (ภาษาวิชาการเรียกว่า “ประวิสรรชนีย์”) ที่หลัง น หนู คือสะกดเป็น “วจนะ” คนที่รู้ว่าคำนี้สะกดตามหลักการเขียนคำไทย เห็นคำนี้ก็จะอ่านว่า วะ-จะ-นะ โดยไม่มีข้อสงสัย
แต่คำว่า “พุทธวจน” สะกดอย่างนี้ คือ “พุทธ” สะกดตามหลักการเขียนคำไทย แต่ “วจน” สะกดตามตามหลักการเขียนคำบาลี นั่นคือ ใช้หลักการสะกดต่างกันในคำเดียวกัน จึงย่อมสร้างความงุนงงสงสัยให้แก่ผู้พบเห็นว่า คำเดียวกันทำไมจึงใช้หลักการสะกดต่างกัน สะกดอย่างนี้จะให้อ่านอย่างไรกันแน่
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นตัวอย่างในประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ที่พอจะเป็นแนวเทียบให้กับคำว่า “พุทธวจน” ได้ ขอยกมาให้ดูกันดังนี้ (รายละเอียดตามภาพประกอบ)
…………..
ขออาราธนาพระคุณ จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กาลัง และอิสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ
…………..
คำที่เป็นแนวเทียบคือคำว่า “… วรรณ สุข พล …” จะอ่านว่าอย่างไร?
ดูตามเจตนาแล้ว น่าจะให้อ่านว่า วัน-นะ สุ-ขะ พะ-ละ
คือเฉพาะคำในท่อนนี้ อ่านว่า … จง-จะ-เริน-อา-ยุ วัน-นะ-สุ-ขะ พะ-ละ ปะ-ติ-พาน …
คำถามคือ ถ้าต้องการให้อ่านอย่างนี้ ทำไมจึงไม่สะกดว่า “… วรรณะ สุขะ พละ …”
ถ้าสะกดว่า “… วรรณะ สุขะ พละ …” อย่างนี้ก็หมดข้อสงสัย อ่านว่า วัน-นะ สุ-ขะ พะ-ละ ได้แน่นอน
แต่คำในประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ที่ยกมานี้ จะต้องไปศึกษาตรวจสอบให้ได้ความที่แน่นอนว่า คำประกาศสะกดอย่างนี้ด้วยเหตุผลอะไร (เท่าที่ทราบ เอกสารโบราณเช่นสมุดไทยมักสะกดแบบนี้) อย่าด่วนวินิจฉัยหรือลงความเห็นทันที
คำในประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ที่ยกมานี้ มีคติเช่นใด
คำว่า “พุทธวจน” ที่สะกดอย่างนี้ ก็มีคติเช่นนั้น
หมายความว่า ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาและตั้งใจสะกดอย่างนี้ จะต้องสามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่สมเหตุสมผลในการสะกดอย่างนี้
ข้อสำคัญ เป็นคำอธิบายที่วิญญูชนฟังแล้วยอมรับได้ว่า-ไปได้อย่างน้ำใส ๆ จริง ๆ

ขยายความ :
คำที่สะกดแบบไทยว่า “พุทธวจนะ” แยกเป็น พุทธ + วจนะ
(๑) “พุทธ”
เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” (โปรดสังเกต มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ความหมายตามที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”
(๒) “วจนะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วจน” อ่านว่า วะ-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
พุทฺธ + วจน = พุทฺธวจน (เขียนแบบบาลี มีจุดใต้ ท ทหาร) แปลว่า “ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า”
“พุทฺธวจน” เขียนแบบภาษาไทยเป็น “พุทธวจนะ” (ไม่มีจุดใต้ ท ทหาร, มีสระ อะ หลัง น หนู)
พุทฺธวจน > พุทธวจนะ (นิยมใช้อีกรูปหนึ่งในภาษาไทย) > พุทธพจน์
คำว่า “พุทธวจนะ” และ “พุทธพจน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “พุทธพจน์” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
พุทธพจน์ : พระดำรัสของพระพุทธเจ้า, คำพูดของพระพุทธเจ้า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางคนน่าสรรเสริญ
อาศัยคำอาจารย์เป็นสะพานดำเนินไปสู่พุทธวจนะ
: บางคนน่าสงสาร
หลงเข้าใจว่าคำอาจารย์เป็นพุทธวจนะ
#บาลีวันละคำ (4,551)
27-11-67
…………………………….
…………………………….