บาลีวันละคำ

สุตตะ-สุตะ (บาลีวันละคำ 4,557)

สุตตะสุตะ

ไม่เรียนก็ไม่รู้ว่าต่างกัน

สุตตะ” (ต เต่า 2 ตัว) อ่านว่า สุด-ตะ

สุตะ” (ต เต่า ตัวเดียว) อ่านว่า สุ-ตะ

(๑) “สุตตะ” (ต เต่า 2 ตัว)

เขียนแบบบาลีเป็น “สุตฺต” มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า เป็นการบังคับให้ ตฺ ที่มีจุดข้างใต้เป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียง อ่านว่า สุด-ตะ 

ถ้าไม่มีจุดข้างใต้ คือเขียนเป็น “สุตต” จะต้องอ่านว่า สุ-ตะ-ตะ ซึ่งไม่ใช่คำที่ประสงค์ในที่นี้

สุตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) รากศัพท์มาจาก – 

(1) สุจ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น ตฺ 

: สุจฺ + = สุจฺต > สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยาวออกไป” 

(2) สุ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ปัจจัย ซ้อน ตฺ 

: สุ + ตฺ + = สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา” “พจนะที่ยังเนื้อความให้หลั่งไหลออกมาเหมือนแม่โคหลั่งน้ำนม” 

(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ตา (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > ), ซ้อน ตฺ 

: สุ + ตฺ + ตา = สุตฺตา > สุตฺต + = สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พจนะที่รักษาอรรถไว้ด้วยดี

(4) สุจ (ธาตุ = ประกาศ, ให้แจ่มแจ้ง) + ปัจจัย, แปลง จฺ เป็น ตฺ 

: สุจฺ + = สุจฺต > สุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พจนะที่ประกาศเนื้อความ” 

สุตฺต” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ด้าย, เส้นด้าย (a thread, string) 

(2) ส่วนของปิฎกทางพุทธศาสนา the (discursive, narrational) part of the Buddhist Scriptures containing the suttas or dialogues, later called Sutta-piṭaka).

(3) หนึ่งในองค์แห่งหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า (หนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์) (one of the divisions of the Scriptures) 

(4) กฎ, มาตรา (a rule, a clause)

(5) บท, หมวด, คำสนทนา, ข้อความ, ข้อสนทนา (a chapter, division, dialogue, text, discourse) 

(6) ฉันท์โบราณ, คำอ้างอิง (an ancient verse, quotation) 

(7) หนังสือเกี่ยวกับกฎ, เรื่องราวเก่า ๆ, ตำรา (book of rules, lore, text book) 

บาลี “สุตฺต” สันสกฤตเป็น “สูตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สูตฺร” ไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

สูตฺร : (คำนาม) ‘สูตร์,’ ด้ายทั่วไป; วิธี, นิเทศในนีติหรือศาสตร์; พากย์สั้นอันบอกวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งในไวยากรณ์, ตรรกวิทยา, ฯลฯ; มติหรือศาสนบัตร์ในนีติ; thread or string in general; an axiom or a rule, a precept in morals or science; a short sentence intimating some rule in grammar, logic, &c.; an opinion or decree in law.”

ในภาษาไทย “สูตร” มีความหมายหลายอย่างเช่นกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สูตร” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สูตร ๑ : (คำนาม) กฎสําหรับจดจํา เช่น สูตรคูณ สูตรคณิตศาสตร์; ส่วนประกอบที่กำหนดขึ้นในการปรุงยา อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น. (ส.; ป. สุตฺต).

(2) สูตร ๒ : (คำนาม) ชื่อหลักธรรมในพระสุตตันตปิฎก เรียกว่า พระสูตร เช่น มงคลสูตร กาลามสูตร; ข้อความทางปรัชญาที่เรียบเรียงร้อยกรอง หรือย่อขึ้นไว้สำหรับท่องจำ เช่น โยคสูตร นยายสูตร สูตรสนธิ.

(3) สูตร ๓ : (คำนาม) มุ้ง, ม่าน, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสูตร หรือ พระวิสูตร.

ข้อสังเกต :

คำว่า “สูตร” ที่หมายถึงส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก คือในชุดที่เราเรียกกันว่า พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ในภาษาไทยถ้าเรียกโดยใช้คำว่า “ปิฎก” ลงท้าย เรานิยมเรียกว่า พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก 

โปรดสังเกตว่า “พระสูตร” (คำในชุดพระไตรปิฎก) เราไม่เรียกว่า “พระสูตรปิฎก” แต่เรียกว่า “พระสุตตันตปิฎก” (-สุด-ตัน-ตะ-)

และในพระสุตตันตปิฎกก็มีเรื่องราวเป็นตอน ๆ เช่น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็ตอนหนึ่ง กาลามสูตร ก็ตอนหนึ่ง มงคลสูตร ก็ตอนหนึ่ง ซึ่งก็เรียกว่า “พระสูตร” เหมือนกัน แต่เป็น “พระสูตร” ในพระสุตตันตปิฎกอีกทีหนึ่ง หรือจะเรียกให้งงหน่อย ๆ ก็เรียกว่า “พระสูตรในพระสูตร” – นี้เป็นคำที่ควรสังเกต

(๒) “สุตะ” (ต เต่า ตัวเดียว)

เขียนแบบบาลีเป็น “สุต” อ่านว่า สุ-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (ธาตุ = ครอบงำ) + ปัจจัย

: สุ + = สุต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาครอบงำ

(2) สุ (ธาตุ = ฟัง) + ปัจจัย

: สุ + = สุต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เชื่อฟัง” 

สุต” ตามรากศัพท์ (1) และ (2) หมายถึง ลูกชาย ถ้าหมายถึงลูกสาว เป็น “สุตา

สุต” = ลูกชาย (son)

สุตา” = ลูกสาว (daughter)

(3) สุ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: สุ + = สุต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันคนรู้จัก” หมายถึง มีชื่อเสียง (renowned)

(4) สุ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย

: สุ + = สุต แปลตามศัพท์ว่า “วิชาอันคนถึง” (คือศึกษาเข้าใจ) หมายถึง ได้ยิน; เรียนรู้; ได้ฟัง (heard; learned; taught)

อภิปรายขยายความ :

บาลี “สุตฺต” (ต เต่า 2 ตัว, มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) ใช้ในภาษาไทยอิงรูปสันสกฤตเป็น “สูตร

ถ้าใช้ทับศัพท์ เขียนเป็นคำไทยเป็น “สุตตะ” คง ต เต่า ไว้ทั้ง 2 ตัว, ไม่มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า, ประวิสรรชนีย์หรือใส่สระ อะ หลัง ต ตัวหลัง 

โปรดสังเกตว่า “สุตตะ” ที่มาจากบาลีว่า “สุตฺต” ใช้ทับศัพท์เป็นคำไทยไม่ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในการเอาคำบาลีสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย

ตัวอย่างที่เราคุ้นกัน เช่น “รัฐ” ในคำไทย มาจากบาลีว่า “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) ฏ ปฏัก เป็นตัวสะกด ฐ ฐาน เป็นตัวตาม เมื่อใช้ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออก ใช้เป็น “รัฐ

แต่ “สุตฺต” ในบาลี ถ้าใช้ทับศัพท์เป็นคำไทย ใช้เป็น “สุตตะ” คง ต เต่า ไว้ทั้ง 2 ตัว 

ถ้าตัดตัวสะกดออก ก็จะเป็น “สุตะ” และไปพ้องกับคำว่า “สุตะ” ที่มาจากบาลีว่า “สุต” (สุ-ตะ, ต เต่า ตัวเดียว) ซึ่งเป็นคนละคำกับ “สุตฺต” (สุด-ตะ, ต เต่า 2 ตัว)

สุตะ” ต เต่า ตัวเดียว จากบาลีว่า “สุต” (สุ-ตะ) แปลได้หลายนัย (ดังแสดงไว้ข้างต้น) นัยที่ใช้บ่อยคือ สดับตรับฟัง หรือความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา

สุตตะ” ต เต่า 2 ตัว จากบาลีว่า “สุตฺต” (สุด-ตะ) แปลว่า สูตร, พระสูตร, เส้นด้าย และเป็นชื่อเฉพาะของคัมภีร์ 1 ใน 9 ที่เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์”

สุตตะ” = สูตร ถ้าตัดตัวสะกดออก ก็จะเป็น “สุตะ” = สดับตรับฟัง หรือความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา เป็นคนละความหมายกัน ทำให้สับสน ไม่สามารถแยกได้ว่า ต้องการจะหมายถึง “สุตฺต” หรือ “สุต” กันแน่

ต้องการหมายถึง สูตร หรือพระสูตร ใช้คำว่า “สุตตะ” (ต เต่า 2 ตัว)

ต้องการหมายถึง สดับตรับฟัง หรือความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา ใช้คำว่า “สุตะ” (ต เต่า ตัวเดียว)

แถม :

“นวังคสัตถุศาสน์” แปลว่า “คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า” มีชื่อและความหมายดังนี้ –

…………..

1. สุตตะ (สูตร) ได้แก่ พุทธพจน์ที่มีสาระเป็นแกนร้อยเรียงเรื่องหนึ่ง ๆ หมายเอาอุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรในสุตตนิบาต และพุทธวจนะอื่น ๆ ที่มีชื่อว่า สุตตะ หรือ สุตตันตะ กล่าวง่ายคือ วินัยปิฎก คัมภีร์นิทเทสทั้งสอง และพระสูตรทั้งหลาย

2. เคยยะ ได้แก่ ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย 

3. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์) ได้แก่ ความร้อยแก้วล้วน หมายเอาพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นใดที่ไม่จัดเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ 

4. คาถา ได้แก่ ความร้อยกรองล้วน หมายเอา ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร 

5. อุทานะ (อุทาน) ได้แก่ พระคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัสสัมปยุตด้วยญาณ พร้อมทั้งข้อความอันประกอบอยู่ด้วย รวมเป็นพระสูตร 82 สูตร 

6. อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา

7. ชาตกะ (ชาดก) ได้แก่ ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น 

8. อัพภูตธัมมะ หรืออัพภูตธรรม เรื่องอัศจรรย์ ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยข้ออัศจรรย์ ไม่เคยมีทุกสูตร เช่น ที่ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี 4 อย่างนี้ หาได้ในอานนท์” ดังนี้เป็นต้น 

9. เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถามตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพอใจ ถามต่อ ๆ ไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร เป็นต้น 

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [302]

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ช่วยกันแก้ปัญหา

: อย่าช่วยกันก่อปัญหา

#บาลีวันละคำ (4,557)

3-12-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *