พระทาฐธาตุ (บาลีวันละคำ 4,558)
พระทาฐธาตุ
คือพระเขี้ยวแก้ว
อ่านว่า พฺระ-ทา-ถะ-ทาด
ประกอบด้วยคำว่า พระ + ทาฐ + ธาตุ
(๒) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ดังนี้ –
(๑) น. ( = คำนาม) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ
(๒) น. พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ
(๓) น. นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน
(๔) น. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง
๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ
๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี
๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์
๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ
(๕) น. อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา
(๖) น. บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๗) น. โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.
(๘ ) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (สรรพนาม) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).
ในที่นี้คำว่า “พระ” ใช้ตามความหมายในข้อ (๔)
(๒) “ทาฐ”
อ่านว่า ทา-ถะ รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ทาฐา” อ่านว่า ทา-ถา รากศัพท์มาจาก ทํสฺ (ธาตุ = กัด) + ฐ ปัจจัย, แปลง ทํสฺ เป็น ทา + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทํสฺ + ฐ = ทํสฐ > ทาฐ + อา = ทาฐา แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องกัด” หมายถึง เขี้ยว, เขี้ยวสัตว์, งาช้าง (a large tooth, fang, tusk)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทาฐ-, ทาฐะ, ทาฒะ : (คำแบบ) (คำนาม) เขี้ยว เช่น พระทาฐธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว. (ป. ทาฐา; ส. ทํษฺฏฺรา, ทาฒา).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
คำว่า “เขี้ยว” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เขี้ยว : (คำนาม) ฟันแหลมคมสำหรับฉีกเนื้อและอาหาร อยู่ระหว่างฟันหน้ากับกราม, ราชาศัพท์ว่า พระทาฐะ หรือ พระทาฒะ, (ถิ่น-พายัพ) ฟัน.”
(๓) “ธาตุ”
บาลีอ่านว่า ทา-ตุ รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย อีกนัยหนึ่งว่ามาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ตุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, ทีฆะ อะ ที่ ธ-(รฺ) เป็น อา (ธรฺ > ธาร)
: ธา + ตุ = ธาตุ
: ธรฺ > ธ + ตุ = ธตุ > ธาตุ
“ธาตุ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(๑) “อวัยวะที่ทรงร่างไว้” หมายถึง กระดูก, อัฐิ
(๒) (1) “สิ่งที่คงสภาพของตนไว้” (2) “สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งมูลค่า” (3) “สิ่งที่ทรงประโยชน์ของตนไว้บ้าง ของผู้อื่นไว้บ้าง” หมายถึง ธาตุ, แร่ธาตุ
(๓) (1) “อักษรที่ทรงไว้ซึ่งเนื้อความพิเศษ” (2) “อักษรอันเหล่าบัณฑิตทรงจำกันไว้” หมายถึง รากศัพท์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ธาตุ” ไว้ดังนี้
(1) a primary element, of which the usual set comprises the four : earth, water, fire, wind (ปฐมธาตุ, คือธาตุซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม)
(2) natural condition, property, disposition; factor, item, principle, form (ภาวะตามธรรมชาติ, คุณสมบัติ, อุปนิสัย, ปัจจัย, หัวข้อ, หลัก, รูป)
(3) elements in sense-consciousness: referring to the 6 ajjhattikāni & 6 bāhirāni āyatanāni (ธาตุเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวถึงอายตนะภายใน 6 และภายนอกอีก 6)
(4) a humour or affection of the body (อารมณ์ หรืออาการของกาย)
(5) the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย โดยทั่ว ๆ ไปเชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก.
(2) กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่ว ๆ ไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ, ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้น ๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ, ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ.
(3) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.
(4) (ภาษาถิ่น-อีสาน) เจดีย์ที่บรรจุกระดูกคนที่เผาแล้ว.
(5) สารเนื้อเดียวล้วนซึ่งประกอบด้วยบรรดาอะตอมที่มีโปรตอนจํานวนเดียวกันในนิวเคลียส.
(6) รากศัพท์ของคําบาลีสันสกฤตเป็นต้น เช่น ธาตุ มาจาก ธา ธาตุ สาวก มาจาก สุ ธาตุ กริยา มาจาก กฺฤ ธาตุ.
ในที่นี้ “ธาตุ” หมายถึง กระดูกของพระพุทธเจ้า ที่เรียก พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ หรือที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายว่า the remains of the body after cremation (ส่วนที่เหลือของร่างเมื่อเผาศพแล้ว)
การประสมคำ :
๑ ทาฐา + ธาตุ ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ –ฐา
: ทาฐา + ธาตุ = ทาฐาธาตุ > ทาฐธาตุ แปลว่า “พระธาตุคือเขี้ยว” นิยมเรียกกันว่า “พระเขี้ยวแก้ว” (ดูที่คำว่า “ทาฐ” ข้างต้น)
ขยายความ :
ในมหาปรินิพพานสูตรบรรยายเรื่องความแพร่หลายของพระสรีรธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังถวายพระเพลิงแล้วไว้ดังนี้ –
…………..
อฏฺฐโทณํ จกฺขุมโต สรีรํ
สตฺตโทณํ ชมฺพุทีเป มเหนฺติ
เอกญฺจ โทณํ ปุริสวรุตฺตมสฺส
รามคาเม นาคราชา มเหนฺติ ฯ
พระสรีรธาตุของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นดวงตาโลกมีแปดทะนาน
เจ็ดทะนานบูชากันอยู่ในชมพูทวีป
พระสรีรธาตุอีกทะนานหนึ่งของพระผู้ทรงเป็นบุรุษประเสริฐสุด
พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม
เอกา หิ ทาฐา ติทิเวหิ ปูชิตา
เอกา ปน คนฺธารปุเร มหิยฺยติ
กาลิงฺครญฺโญ วิชิเต ปุเนกํ
เอกํ ปุน นาคราชา มเหนฺติ ฯ
พระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่งเทวดาชั้นดาวดึงส์บูชาแล้ว
องค์หนึ่งบูชากันอยู่ในคันธารปุระ
องค์หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นพระเจ้ากาลิงคะ
องค์หนึ่งพญานาคบูชากันอยู่ (ในนาคพิภพ)
ตสฺเสว เตเชน อยํ วสุนฺธรา
อายาคเสฏฺเฐหิ มหี อลงฺกตา
เอวํ อิมํ จกฺขุมโต สรีรํ
สุสกฺกตํ สกฺกตสกฺกเตหิ ฯ
ด้วยเดชานุภาพแห่งพระสรีรธาตุนั่นแล
แผ่นดินจึงประดับพร้อมแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐสุด
พระสรีรธาตุของพุทธเจ้าผู้เป็นดวงตาโลก
ชื่อว่าอันชาวโลกสักการะแล้วสักการะเล่าเป็นอันดี
เทวินฺทนาคินฺทนรินฺทปูชิโต
มนุสฺสินฺทเสฏฺเฐหิ ตเถว ปูชิโต
ตํ ตํ วนฺทถ ปญฺชลิกา ภวิตฺวา
พุทฺธา หเว กปฺปสเตหิ ทุลฺลภาติ ฯ
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด
อันจอมเทพ พญานาค และจอมนระบูชาแล้ว
อันมนุษย์ผู้ประเสริฐเลิศล้ำก็บูชาแล้วเช่นเดียวกัน
ขอท่านทั้งหลายจงประนมน้อมถวายวันทาพระสรีรธาตุนั้น ๆ
ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด
นับด้วยร้อยกัปก็ยากนักที่จะได้ประสบพบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จตฺตาฬีสสมา ทนฺตา
เกสา โลมา จ สพฺพโส
เทวา หรึสุ เอเกกํ
จกฺกวาฬปรมฺปราติ ฯ
พระทนต์ถ้วนทั้งสี่สิบองค์
พระเกศาและพระโลมาทั้งหมด
เหล่าเทวดาอัญเชิญไปองค์ละองค์
บูชาสืบต่อกันมาในจักรวาล ดังนี้แล.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 162
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ารอไหว้พระเฉพาะเมื่อพบพระบรมสารีริกธาตุ
: พระธรรมของพระบรมโลกนาถไหว้ได้ทุกลมหายใจ
#บาลีวันละคำ (4,558)
4-12-67
…………………………….
…………………………….