จีนรฏฺฐ – จีนรัฐ (บาลีวันละคำ 4,560)
จีนรฏฺฐ – จีนรัฐ
เมืองจีน
มีญาติมิตรท่านหนึ่งส่งคำว่า “จีนรัฐ” มาให้ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เขียนบาลีวันละคำ
ผู้เขียนบาลีวันละคำหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรทั้งปวง จึงขอนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำ
“จีนรัฐ” ถ้าสะกดอย่างนี้ คนทั้งหลายคงจะอ่านตามสะดวกปากว่า จีน-รัด แต่ถ้าอ่านตามหลักภาษาอันว่าด้วยการอ่านคำสมาสสนธิ จะต้องอ่านว่า จี-นะ-รัด โดยถือว่า “จีน” เป็นคำบาลี จำพวก “อสาธารณนาม” คือเป็นชื่อเฉพาะ (proper name) แปลว่า รัฐจีน ประเทศจีน เมืองจีน
ในคัมภีร์บาลีมีคำว่า “จีน” ที่หมายถึง ประเทศจีน ปรากฏอยู่หลายแห่งทั้งในคัมภีร์ชั้นบาลี-พระไตรปิฎก และชั้นอรรถกถา ตลอดจนคัมภีร์ชั้นรอง ๆ ลงมา
“จีนรัฐ” เขียนแบบบาลีเป็น “จีนรฏฺฐ” อ่านว่า จี-นะ-รัด-ถะ แยกศัพท์เป็น จีน + รฏฺฐ
(๑) “จีน”
บาลีอ่านว่า จี-นะ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = สะสม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ใช้สูตร “ทีฆะสระหน้า ลบสระหลัง” คือทีฆะ อิ ที่ จิ เป็น อี (จิ > จี), ลบ อ ที่ อน (อน > น)
: จิ + ยุ > อน = จิน > จีน (จี-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประเทศเป็นที่สะสมอยู่แห่งรัตนชาติทั้งหลาย”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปวิเคราะห์ไว้ดังนี้ –
จียนฺติ เอตฺถ รตนานีติ จีโน
แปลว่า รัตนะทั้งหลาย ย่อมสะสมอยู่ ในประเทศนี้ เหตุนั้น ประเทศนี้จึงชื่อว่า “จีโน” = จีน > ประเทศเป็นที่สะสมอยู่แห่งรัตนชาติทั้งหลาย
“จีน” (ปุงลิงค์) หมายถึง ประเทศจีน เมืองจีน คำอังกฤษเรียกประเทศจีนว่า China
(๒) “รฏฺฐ”
อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ฐ ที่ รฐ + ต ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
บาลี “รฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “ราษฺฏฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ราษฺฏฺร : (คำนาม) ประเทศ; ราษฎร, ประชา; ชนวิบัททั่วไป; a realm or region, a country; the people; any public calamity.”
ในที่นี้ใช้ตามบาลีเป็น “รฏฺฐ” แต่ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐมนตรี” อ่านว่า รัด-ถะ-มน-ตฺรี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
แม้ “ราษฎร” (ราษฺฏฺร) จะเป็นคำเดียวกับ “รัฐ” (รฏฺฐ) แต่ในภาษาไทยแยกความหมายกันชัดเจน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) รัฐ, รัฐ– : (คำนาม) แคว้น เช่น รัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่น กฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่น รัฐวาติกัน. (ป. รฏฺฐ; ส. ราษฺฏฺร).
(2) ราษฎร, ราษฎร์ ๑ : (คำนาม) พลเมืองของประเทศ. (ส.).
(3) ราษฎร์ ๒ : (คำนาม) แว่นแคว้น, บ้านเมือง. (ส.; ป. รฏฺฐ).
จีน + รฏฺฐ = จีนรฏฺฐ (จี-นะ-รัด-ถะ) แปลว่า “ประเทศจีน”
“จีนรฏฺฐ” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยเป็น “จีนรัฐ” อ่านว่า จี-นะ-รัด เรียกเป็นคำไทยว่า “ประเทศจีน” หรือ “เมืองจีน”
ขยายความ :
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 รัฐบาลไทยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากวัดหลิงกวง ประเทศจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ มณฑปที่สร้างขึ้นเฉพาะการนี้ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ระหว่างเวลา 07:00 ถึง 20:00 น.
พระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” อัญเชิญมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 และจะอัญเชิญกลับประเทศจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระธาตุจากเมืองจีนมาประดิษฐานในเมืองไทย
ไปไหว้ได้ก็เป็นบุญ
: พระธาตุประดิษฐานในที่ไหน ๆ
ส่งจิตไปไหว้ก็เป็นบุญ
#บาลีวันละคำ (4,560)
6-12-67
…………………………….
…………………………….