กะลา ในบาลี (บาลีวันละคำ 1,980)
กะลา ในบาลี
อาจจะดีกว่ากะลาไทย
คำว่า “กะลา” เสียงตรงกับคำบาลีว่า “กลา” (กะ-ลา) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กลฺ + อ = กล + อา = กลา แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขานับด้วย 1 เป็นต้น”
“กลา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสี้ยวเล็ก ๆ ของส่วนที่เต็ม, โดยทั่วๆ ไปถือว่าหนึ่งใน 16; ส่วนที่ 16 ของวงพระจันทร์; หรือมีบ่อยแบ่งส่วนที่ 16 ออกเป็นอีก 16 ส่วน และแบ่งออกเป็นอีก 16 ส่วน แล้วแบ่งเช่นนี้ไปอีกเรื่อยๆ คือส่วนที่เล็กน้อยเหลือประมาณ (a small fraction of a whole, generally the 16th part; the 16th part of the moon’s disk; often the 16th part again subdivided into 16 parts and so on: one infinitesimal part)
(2) อุบายวิธี, การหลอกลวง (an art, a trick)
“กลา” ในบาลี นำมาใช้ในภาษาไทยเป็น “กล” (กน, ถ้ามีคำมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า กน-ละ-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กล, กล– : (คำนาม) การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง; เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล; เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เช่น ช่างกล. (คำวิเศษณ์) เช่น, อย่าง, เหมือน, เช่น เหตุผลกลใด; เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ. (คำที่ใช้ในกฎหมาย).”
จะเห็นได้ว่า ความหมายของ “กล” ในภาษาไทยเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “การหลอกลวง” นั่นเอง
ส่วนที่หมายถึงเครื่องจักรเครื่องยนต์ ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบกันเข้านั่นเองจึงเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ อันเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม”
ส่วน “กะลา” ที่เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กะลา ๑ : (คำนาม) ส่วนแข็งที่หุ้มเนื้อมะพร้าว ถ้าผ่าซีก ซีกที่มีตา เรียกว่า กะลาตัวผู้ ซีกที่ตัน เรียกว่า กะลาตัวเมีย; เรียกชามเนื้อกระเบื้อง รูปร่างคล้ายกะลา ด้านนอกสีน้ำตาลแก่ ด้านในสีขาว เขียนลายสีคราม มีขนาดต่าง ๆ กัน ว่า ชามกะลา; เรียกผมที่ตัดเป็นรูปกะลาครอบว่า ผมทรงกะลาครอบ; เรียกหมวกที่มีรูปคล้ายกะลาครอบว่า หมวกกะลา หรือ หมวกกะลาครอบ; (สํานวน) (คำวิเศษณ์) มีค่าน้อย เช่น เก่ากะลา.”
“กะลา” ไทยที่หมายถึง “ส่วนแข็งที่หุ้มเนื้อมะพร้าว” นี้ ภาษาบาลีใช้ศัพท์ว่า “นาฬิเกรกปาล” (นา-ลิ-เก-ระ-กะ-ปา-ละ) ประกอบด้วยศัพท์ว่า นาฬิเกร + กปาล
(๑) “นาฬิเกร” (นา-ลิ-เก-ระ) รากศัพท์มาจาก นาลิ (หลอด, ท่อ, กระบอก) + ก สกรรถ (นาลิ + ก) + อีร ปัจจัย, แปลง ลฺ ที่ นาลิ เป็น ฬฺ (นาลิ > นาฬิ), แผลง อี ที่ อีร เป็น เอ (อีร > เอร),
: นาลิ + ก = นาลิก + อีร = นาลิกีร > นาฬิกีร > นาฬิเกร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เกิดมาเหมือนท่อหรือกระบอก” หมายถึง มะพร้าว (the coconut tree) ในที่นี้หมายเอาผลมะพร้าว
(๒) “กปาล” (กะ-ปา-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ก (แทนคำว่า “สีส” = หัว) + ปาลฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: ก + ปาลฺ = กปาลฺ + อ = กปาล แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่รักษาศีรษะ”
(2) กปฺ (ธาตุ = รวบรวม) + อาล ปัจจัย
: กปฺ + อาล = กปาล แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องรวบรวมชีวิตไว้”
“กปาล” (ปุงลิงค์ และ นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หัวกะโหลก (the skull)
(2) กระทะ (a frying pan)
(3) ชามขอทาน, ที่นักพรตจำพวกหนึ่งใช้ (a begging bowl, used by certain ascetics)
(4) เศษกระเบื้อง (a potsherd)
(5) เต่าหรือกระ หรือกระดองสัตว์ (a tortoise or turtle-shell)
“กปาล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “กปาล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กปาล : (คำนาม) ‘กบาล,’ กระโหลกศีร์ษะ; โอ่งน้ำครึ่งซีก; กระดูกแบน; บาตร์, กระลาหรือภาชนะของผู้ขอทาน; หมู่; คณะ; โรคเรื้อนอย่างหนึ่ง; ‘ประศานติบัตร์, สนธิบัตร์, ไมตรีบัตร์,’ บัตร์คือสัญญาอันพึงทำไว้ต่อกันเพื่อประศานติสุข; the skull, the cranium; either half of a water-jar; any flat bone; a beggar’s bowl; multitude, collection; a species of leprosy; a treaty peace on equal terms.”
นาฬิเกร + กปาล = นาฬิเกรกปาล แปลว่า “กะโหลกของผลมะพร้าว”
…………..
อภิปราย :
ในสำนวนไทย มีคำพูดว่า “กบในกะลา” มาจากกบที่ถูกกะลาครอบไว้ จึงนึกว่าตัวมันใหญ่คับโลก เป็นสำนวนหมายถึงคนที่มีความรู้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญว่ารู้จบครบถ้วนฉลาดเลิศล้ำกว่าใครๆ
สำนวนนี้ในคัมภีร์โลกนิติท่านว่าดังนี้ –
อปฺปสฺสุโต สุตํ อปฺปํ
พหุํ มญฺญติ มานวา
สินฺธูทกมปสฺสนฺโต
กูเป โตยํ ว มณฺฑุโก.
โคลงโลกนิติว่าดังนี้ –
๏ รู้น้อยว่ามากรู้………เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน………สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล……….กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย………มากล้ำลึกเหลือ๚ะ๛
(ประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ บทที่ 56)
คือท่านเปรียบกบที่อาศัยอยู่ในบ่อน้ำ (คัมภีร์ใช้ศัพท์ว่า กูป = หลุม, โพรง [a pit, a cavity]) ไม่ได้เปรียบกบในกะลา
เวลานี้มักใช้สำนวน “กบในกะลา” ในความหมายว่า ถูกครอบงำ ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม หรือกฎที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองหรือในหน่วยงานนั้นๆ กำหนดขึ้น ห้ามคิดต่าง ใครทำตัวแตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ของสังคมจะถูกมองว่าผิดว่าเลว ซึ่งคนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่ควรเป็นเช่นนี้ ทุกคนควรมีสิทธิ์คิด พูด ทำอะไรก็ได้ที่ตนพอใจ ไม่จำเป็นต้องอยู่กรอบกติกาของสังคมอีกต่อไป
“กะลา” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความคับแคบ ความไม่มีอิสระ ความน่าอึดอัดขัดข้องไปด้วยประการฉะนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โลกนี้เป็นกะลาอยู่แล้วทั้งใบ
: เพียงแค่รู้จักฝึกใจก็พ้นได้จากกะลา
#บาลีวันละคำ (1,980)
13-11-60