กิริยาอาการ (บาลีวันละคำ 4,563)
กิริยาอาการ
“กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”
อ่านว่า กิ-ริ-ยา-อา-กาน
ประกอบด้วยคำว่า กิริยา + อาการ
(๑) “กิริยา”
อ่านว่า กิ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย แปลง อ ที่ ก เป็น อิ, ลง อิ อาคม ที่ –ร, ลบ ณฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(1) แปลง อ ที่ ก เป็น อิ = กรฺ > กิรฺ
(2) ลง อิ อาคม ที่ –ร = กิรฺ > กิริ
(3) ลบ ณฺ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย > กิริย
(4) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = กิริย + อา > กิริยา
: กร > กิร + อิ = กิริ + ณฺย > ย = กิริย + อา = กิริยา
“กิริยา” ตามความหมายทั่วไป คือ การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป (action, performance, deed; the doing)
“กิริยา” ตามความหมายพิเศษ คือ การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม (promise, vow, dedication, intention, pledge; justice)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “กิริยา” ไว้ดังนี้ –
…………..
1. การกระทำ หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่กล่าวถึงอย่างกว้าง ๆ หรืออย่างเป็นกลาง ๆ ถ้าเป็น “กิริยาพิเศษ” คือเป็นการกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ก่อให้เกิดวิบาก ก็เรียกว่า กรรม, การกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่ก่อวิบาก เช่นการกระทำของพระอรหันต์ ไม่เรียกว่ากรรม แต่เป็นเพียงกิริยา (พูดให้สั้นว่า เจตนาที่ก่อวิบาก เป็นกรรม, เจตนาที่ไม่ก่อวิบาก ถ้ามิใช่เป็นวิบาก ก็เป็นกิริยา);
2. ในภาษาไทย มักหมายถึงอาการแสดงออกทางกายในเชิงมารยาท บางทีใช้ควบคู่กันว่า กิริยามารยาท
3. ในทางไวยากรณ์ ได้แก่คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนาม, ในไวยากรณ์ไทย บางทีกำหนดให้ใช้รูปสันสกฤตว่า กริยา แต่ในบาลีไวยากรณ์โดยทั่วไป ใช้รูปบาลี คือ กิริยา
…………..
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กิริยา : (คำนาม) การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท, เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).”
(๒) “อาการ” (อา-กา-ระ)
ภาษาไทยอ่านว่า อา-กาน บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีหธ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กร > การ)
: อา + กรฺ = อากรฺ + ณ = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” “ผู้ทำทั่วไป”
“อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)
(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)
(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)
(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)
(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อาการ” ในภาษาสันสกฤตไว้ว่า –
“อาการ : (คำนาม) การกล่าวท้วง; ลักษณะ; รูป; a hint; a sign or token; form.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ว่า –
(1) สภาพที่เป็นอยู่หรือที่เป็นไป เช่น อาการซึมเศร้า
(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการตื่นเต้น.
(3) ความรู้สึก สิ่งที่ปรากฏ หรือภาวะผิดปรกติในร่างกายที่บ่งบอกความมีโรค เช่น อาการเจ็บคอ อาการเจ็บหน้าอก อาการชักกระตุก.
(4) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.
(5) ส่วนของร่างกายรวมทั้งอวัยวะภายนอก อวัยวะภายใน และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องภายในร่างกายซึ่งทางพระพุทธศาสนานิยมว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า อาการ ๓๒ เช่น ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนถึงน้ำมูตร (น้ำปัสสาวะ) และเยื่อในสมอง. (ป., ส.).
กิริยา + อาการ = กิริยาอาการ (กิ-ริ-ยา-อา-กาน) เป็นคำสมาสแบบไทย แปลว่า (1) การกระทำและลักษณะที่แสดงออกมา (2) ลักษณะที่แสดงออกมาทางการกระทำ
คำว่า “กิริยาอาการ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปรายขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ตอนหนึ่งว่า “กิริยา” หมายถึง “คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนาม, ในไวยากรณ์ไทย บางทีกำหนดให้ใช้รูปสันสกฤตว่า กริยา” (ดูข้างต้น)
คำว่า “กริยา” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กริยา : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม. (ส. กฺริยา; ป. กิริยา).”
โปรดสังเกตว่า “กิริยา” กับ “กริยา” ในภาษาไทยใช้ต่างกันเด็ดขาด กล่าวคือ –
“กิริยา” หมายถึง การกระทำหรืออาการที่แสดงออกมาทางกาย ไม่ใช้ในความหมายทางไวยากรณ์ที่ว่า “คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม”
“กริยา” เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์เท่านั้น หมายถึง คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม ไม่ใช้ในความหมายว่าการกระทำหรืออาการที่แสดงออกมาทางกาย
ที่มักใช้กันผิด ๆ ก็อย่างเช่น “กริยามารยาท” “บุญกริยาวัตถุ” และ “กริยาอาการ”
คำเช่นนี้หมายถึง “การกระทำหรืออาการที่แสดงออกมาทางกาย” ต้องใช้คำว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”
“กริยามารยาท” ต้องใช้ว่า “กิริยามารยาท”
“บุญกริยาวัตถุ” ต้องใช้ว่า “บุญกิริยาวัตถุ”
“กริยาอาการ” ต้องใช้ว่า “กิริยาอาการ”
เทียบคำอังกฤษอาจช่วยให้จำได้แม่นขึ้น –
กิริยา = action, doing
กริยา = verb
ถ้าคำนั้นหมายถึง action, doing คือการกระทำทั่วไป ใช้ว่า “กิริยา”
ถ้าคำนั้นหมายถึง verb ในไวยากรณ์ จึงจะใช้ว่า “กริยา”
หรือเพื่อความปลอดภัย ใช้แต่ “กิริยา” คำเดียว
เพราะ “กิริยา” หมายถึง verb ในไวยากรณ์ก็ได้
ไม่ต้องไปนึกถึง “กริยา”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนคำ จำให้ขึ้นใจจะไม่จน
: เรียนคน จะจนใจถ้าไม่จำ
#บาลีวันละคำ (4,563)
9-12-67
…………………………….
…………………………….