เวท – เวทย์ (บาลีวันละคำ 4,567)
เวท – เวทย์
เหมือนกับจะเป็นหญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
(๑) “เวท”
ภาษาไทยอ่านว่า เวด บาลีอ่านว่า เว-ทะ รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวท)
: วิทฺ + ณ = วิทณ > วิท > เวท แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องรู้ธรรมหรือการงาน” (คือ ต้องการรู้ธรรมก็ใช้สิ่งนี้ ต้องการรู้วิธีทำการงานก็ใช้สิ่งนี้)
“เวท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความรู้สึก (ยินดี), ความรู้สึกศรัทธา, ศรัทธาอย่างแรงกล้า, ความเกรงขาม, จิตตารมณ์, ความตื่นเต้น ([joyful] feeling, religious feeling, enthusiasm, awe, emotion, excitement)
(2) ความรู้, ญาณ, การเปิดเผย, ปัญญา (knowledge, insight, revelation, wisdom)
(3) พระเวท (the Veda)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เวท” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เวท : (คำนาม) เวท, หรือพระเวท, สามานยศัพท์สำหรับเรียกบุณยลิขิตหรือธรรมศาสตร์ของชาวฮินดู; ฉันท์; ฏิปปนีหรืออรรถกถา; พุทธิ; พระวิษณุ; a Veda, the generic term for the sacred writing or scripture of the Hindus; metre; gloss or comment; knowledge; Vishnu.”
คำว่า “เวท” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(ปรับวรรคตอนเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย)
…………..
“เวท, เวท– : (คำนาม)
(๑) ความรู้, ความรู้ทางศาสนา.
(๒) ถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นเป็นมนตร์หรือคาถาอาคม เมื่อนำมาเสกเป่าหรือบริกรรมตามลัทธิวิธีที่มีกำหนดไว้ สามารถให้ร้ายหรือดี หรือป้องกันอันตรายต่าง ๆ ตามคติไสยศาสตร์ได้ เช่น ร่ายเวท, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ มนตร์ เป็น เวทมนตร์.
(๓) ชื่อคัมภีร์ภาษาสันสกฤตโบราณซึ่งเป็นพื้นฐานของศาสนาพราหมณ์ยุคแรก มี ๔ คัมภีร์ ได้แก่
๑. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย ตอนท้ายกล่าวถึงการสร้างโลก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบความเชื่อของชาวอินเดีย
๒. ยชุรเวท ว่าด้วยรายละเอียดการประกอบยัญพิธีและลำดับมนตร์ที่นำมาจากคัมภีร์ฤคเวทเพื่อสวดในขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธี
๓. สามเวท ว่าด้วยบทขับที่คัดเลือกมาจากประมาณหนึ่งในหกของฤคเวท และใช้เฉพาะในพิธีที่บูชาด้วยน้ำโสม
๔. อถรรพเวท หรือ อาถรรพเวท เป็นเวทมนตร์คาถาเพื่อให้เกิดผลดีแก่ฝ่ายตนหรือผลร้ายแก่ฝ่ายศัตรู ตลอดจนการบันดาลสิ่งที่เป็นมงคลหรืออัปมงคล การทำเสน่ห์ การรักษาโรค และอื่น ๆ
สามคัมภีร์แรกเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท ต่อมารับอถรรพเวทหรืออาถรรพเวทเข้ามารวมเป็นสี่คัมภีร์เรียกว่า จตุรเวท หรือ จตุรเพท,
เรียกยุคแรกของศาสนาพราหมณ์จนถึงประมาณสมัยพุทธกาลว่า ยุคพระเวท มีวรรณกรรมหลักประกอบด้วยคัมภีร์พระเวท คัมภีร์พราหมณะ คัมภีร์อารัณยกะและคัมภีร์อุปนิษัทรุ่นแรก. (ป., ส.).
…………..
(๒) “เวทย์”
อ่านว่า เวด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เวทย์ : (คำวิเศษณ์) พึงรู้, ควรรู้. (ส.).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “เวทย์” มาจากภาษาสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เวทย” บอกไว้ดังนี้ –
“เวทย : (คำนาม) ‘เวทย์, เวทัย,’ ผู้รู้; ผู้ได้; one who knows; one who obtains.”
ความหมายในภาษาไทยที่ว่า “พึงรู้, ควรรู้” ถ้าเป็นคำบาลีก็ควรเป็น “เวทิย”
“เวทิย” อ่านว่า เว-ทิ-ยะ รากศัพท์มาจาก เวท (ความรู้) + อิย ปัจจัย
: เวท + อิย = เวทิย แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งความรู้” “สิ่งอันเขาพึงรู้” “สิ่งอันเนื่องมาแต่เวท” “เกี่ยวกับเวท” หมายถึง เรื่องราว ถ้อยคำเป็นต้น อันมีมา หรือได้มา หรือมีกำเนิดมาจากเวท หรือจากพระเวท
บาลี “เวทิย” ใช้ในภาษาไทยอิงสันสกฤตเป็น “เวทย์”
แถม :
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “เวทย” ไว้คำหนึ่งว่า “เวทัย”
คำนี้อ่านว่า เว-ไท รูปและเสียงงามดี ความหมายก็ดี (ผู้รู้ ผู้ได้)
ขอเสนอเป็นอภินันทนาการแก่นักตั้งชื่อไว้อีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
สำหรับสื่อ :-
: จงรู้ทุกเรื่องที่พูด
: แต่อย่าพูดทุกเรื่องที่รู้
สำหรับผู้เสพสื่อ :-
: จงเสพทุกเรื่องที่อยากรู้
: แต่อย่าเชื่อทุกเรื่องที่อยากเสพ
#บาลีวันละคำ (4,567)
13-12-67
…………………………….
…………………………….