บาลีวันละคำ

มหาปเทส (บาลีวันละคำ 2,215)

มหาปเทส

คำที่ชาวพุทธควรรู้

อ่านว่า มะ-หา-ปะ-เทด

แยกศัพท์เป็น มหา + อปเทส

(๑) “มหา” (มะ-หา)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –อปเทส เปลี่ยนรูปเป็น “มหา

(๒) “อปเทส

อ่านว่า อะ-ปะ-เท-สะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, หลีกไป) + ทิสิ (ธาตุ = สวด) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ทิ-(สิ) เป็น เอ (ทิสิ > เทสิ), “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ (ทิ)-สิ (ทิสิ > เทสิ > เทส)

: อป + ทิสิ = อปทิสิ + = อปทิสิณ > อปทิสิ > อปเทสิ > อปเทส แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องชี้แจงข้อความที่ต้องการ

อปเทส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เหตุผล, ต้นเหตุ, คารม, ข้อโต้แย้ง (reason, cause, argument)

(2) คำแถลง, การระบุหรือแต่งตั้ง (statement, designation)

(3) ข้ออ้าง (pretext)

มหา + อปเทส = มหาปเทส แปลว่า “ข้อสำหรับอ้างใหญ่

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มหาปเทส” ไว้ดังนี้ –

มหาปเทส : “ข้อสำหรับอ้างใหญ่” (ในทางพระวินัย) หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔ คือ

๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร

๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร

๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร

๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร

…………..

สรุปความก็คือ ในพระวินัยมีเรื่องที่เป็นหลักใหญ่ 2 เรื่อง คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำ และเรื่องที่ทรงอนุญาตให้ทำได้ ใช้คำสั้นๆ ว่า ข้อห้ามกับข้ออนุญาต

เป็นการยากที่จะระบุไว้ให้ครบถ้วนว่าข้อห้ามมีอะไรบ้างและข้ออนุญาตมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่มีในสมัยนั้น แต่มามีขึ้นในสมัยนี้ จึงต้องมีหลักสำหรับเทียบเคียง เรียกว่า “มหาปเทส” เช่น –

เบญจศีลข้อ 5 งดเว้นจากการเสพของเมา ระบุไว้แต่เพียง “สุราและเมรัย” ซึ่งเป็นของสามัญในสมัยโน้น เฮโรอีน ยาบ้า ยาเสพติดชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ย่อมจัดเข้าในของเมาด้วยเช่นกัน

สมัยก่อนมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้ประทีปเทียนไต้เป็นอุปกรณ์จุดให้แสงสว่าง เมื่อเทียบเคียงกันแล้วไฟฟ้าแสงสว่างที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็จัดเข้าในอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ภิกษุสามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน

กรณีอื่นๆ ก็พึงเทียบเคียงโดยนัยเดียวกันนี้

คำว่า “มหาปเทส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้จะมีข้ออ้างในการทำบาป

: นรกก็ไม่รับทราบแต่ประการใด

#บาลีวันละคำ (2,215)

6-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย