บาลีวันละคำ

มหาอำมาตย์ (บาลีวันละคำ 4,577)

มหาอำมาตย์

คือใครพวกไหน

อ่านว่า มะ-หา-อำ-หฺมาด

แยกศัพท์ตามที่เห็นเป็น มหา + อำมาตย์ 

(๑) “มหา” 

อ่านว่า มะ-หา ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหา ๑ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.”

คำว่า “มหา” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” อ่านว่า มะ-หัน-ตะ รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –อำมาตย์ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” 

(๒) “อำมาตย์” 

อ่านว่า อำ-หฺมาด บาลีเป็น “อมจฺจ” อ่านว่า อะ-มัด-จะ รากศัพท์มาจาก อมา (ร่วมกัน) + จฺจ ปัจจัย, รัสสะ ( = ทำให้เสียงสั้น) อา ที่ (อ)-มา เป็น อะ (อมา > อม)

: อมา + จฺจ = อมาจฺจ > อมจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นร่วมกันกับพระราชาในกิจทั้งปวง” 

อมจฺจ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เพื่อน, สหาย, เพื่อนร่วมงาน, ผู้ช่วยเหลือ, ผู้ให้คำแนะนำ, เพื่อนสนิท (friend, companion, fellow-worker, helper, one who gives his advice, a bosom-friend)

(2) ราชอำมาตย์, ราชวัลลภ, ราชปุโรหิต (a king’s intimate friend, king’s favourite, king’s confidant)

(3) ผู้ถวายคำแนะนำพิเศษหรือองคมนตรี ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐมนตรี (king’s special adviser or privy councillor, as such distinguished from the official ministers)

อมจฺจ” ในบาลี เป็น “อมาตฺย” ในสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อมาตฺย : (คำนาม) มนตรี; อุปเทศก (ที่ปรึกษา); minister; counselor.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อมาตย์” และแผลงเป็น “อำมาตย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อมาตย์ : (คำนาม) อำมาตย์, ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส.; ป. อมจฺจ).

(2) อำมาตย-, อำมาตย์ : (คำนาม) ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส. อมาตฺย; ป. อมจฺจ). (แผลงมาจาก อมาตย์).

มหนฺต > มหา + อมจฺจ = มหามจฺจ (มะ-หา-มัด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า “อำมาตย์ผู้ใหญ่

ที่แสดงมานี้ เป็นการแยกศัพท์ตามที่เห็นเป็น มหา + อำมาตย์ แต่ในรูปศัพท์บาลีมีคำว่า “มหามตฺต” อีกคำหนึ่งซึ่งนิยมแปลเป็นไทยว่า “มหาอำมาตย์” เช่นกัน

มหามตฺต” อ่านว่า มะ-หา-มัด-ตะ แยกศัพท์เป็น มหา + มตฺต 

(ก) “มหา” ดูข้างต้น

(ข) “มตฺต” อ่านว่า มัด-ตะ (เป็น “มตฺตา” ก็มี) รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ปัจจัย, รัสสะ อา (ที่ มา) เป็น อะ (มา > ), ซ้อน ตฺ

: มา > + + = มตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนด” มีความหมายว่า –

(1) ประกอบด้วย, วัดหรือนับได้, ประมาณ (consisting of, measured, measuring)

(2) มากถึง, มากเท่านั้น, เพียงพอ (as much as, so much, some, enough of)

(3) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)

มหนฺต + มตฺต + ปัจจัย, ลบ , แปลง มหนฺต เป็น มหา 

: มหนฺต + มตฺต = มหนฺตมตฺต + = มหนฺตมตฺตณ > มหนฺตมตฺต > มหามตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีประมาณคือข้อกำหนดมาก

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มหามตฺต” ว่า มหาอำมาตย์, นายกรัฐมนตรี

ขยายความ :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “มหามตฺต” (ใต้คำว่า มหนฺต = มหา-) ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

mahāmatta : a king’s chief minister, alias Prime Minister, “who was the highest Officer-of-State and real Head of the Executive”. His position is of such importance, that he even ranges as a rājā or king. 

พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ (ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ) แปลเป็นไทยดังนี้ –

มหามตฺต : มหาอำมาตย์, มุขมนตรีของพระราชาหรือเรียกว่า อัครมหาเสนาบดี ซึ่ง “เป็นเจ้าหน้าที่มีตำแหน่งสูงสุด และเป็นหัวหน้าที่แท้จริงของฝ่ายบริหาร” ตำแหน่งของเขามีความสำคัญมากจนกระทั่งเทียบเท่ากับพระราชาหรือพระเจ้าแผ่นดินทีเดียว.

…………..

อำมาตย์” ในความรู้สึกของคนไทยมักจะเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระราชา หรือเป็นผู้ได้รับพระราชทานยศศักดิ์และมีตำแหน่งหน้าที่ทำราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ

แต่ “อำมาตย์” ในความหมายที่แท้จริง คือ ผู้ให้คำแนะนำ ผู้เสนอแนะหรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของมิตรสหาย รวมตลอดถึงปัญหาของบ้านเมือง 

สมัยหนึ่งที่แนวคิดทางการเมืองเฟื่องฟุ้งอยู่ในเมืองไทย มีการแบ่งกลุ่มผู้คนในสังคมออกเป็นชนชั้นต่าง ๆ เช่น พวกขุนศึก พวกศักดินา พวกชนชั้นกรรมาชีพ เป็นต้น ข้าราชการไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง ที่มีตำแหน่งสูง ๆ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “อำมาตย์” หรือ “มหาอำมาตย์” และมักถูกวาดภาพให้เห็นว่าเป็นพวกกดขี่ประชาชน

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประกาศตัวเป็นฝ่าย “รับใช้ประชาชน” และรังเกียจกลุ่มขุนศึก ศักดินา มหาอำมาตย์ บางคน-หลายคนผันตัวเองมาเป็น “มหาอำมาตย์” อย่างแนบเนียน

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถ้าท่านไม่ชอบ “มหาอำมาตย์” มีคำแนะนำว่า โปรดงดเว้นการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาของบ้านเมือง เพราะ –

: แสดงความเห็นต่อปัญหาของชาติ

: นั่นแหละเป็น “มหาอำมาตย์” ไปแล้วในตัว

#บาลีวันละคำ (4,577)

23-12-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *