อริยโวหาร (บาลีวันละคำ 4,579)

อริยโวหาร
ภาษาของอารยชน
อ่านว่า อะ-ริ-ยะ-โว-หาน
ประกอบด้วยคำว่า อริย + โวหาร
(๑) “อริย”
อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย
: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”
(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม
: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > ย = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”
(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”
(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”
(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: อริย + ณ = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”
สรุปว่า “อริย” แปลว่า –
(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
(3) ผู้ไกลจากกิเลส
(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –
๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)
๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)
๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”
(๒) “โวหาร”
บาลีอ่านว่า โว-หา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ลบสระหน้า” คือ วิ + อว ลบ อิ ที่ วิ (วิ > ว), แผลง อว เป็น โอ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: วิ > ว + อว > โอ : ว + โอ = โว + หรฺ = โวหร + ณ = โวหรณ > โวหร > โวหาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันเขากล่าว” (2) “คำเป็นเครื่องกล่าว” (3) “คำที่ลักใจของเหล่าสัตว์อย่างวิเศษ” (คือดึงดูดใจคนฟังไป) (4) “ภาวะที่พูดทำความขัดแย้ง” (5) “การตกลงกัน”
“โวหาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“โวหาร : (คำนาม) ชั้นเชิงหรือสำนวนแต่งหนังสือหรือพูด เช่น มีโวหารดี, ถ้อยคำที่เล่นเป็นสำบัดสำนวน เช่น อย่ามาตีโวหาร เขาชอบเล่นโวหาร. (ป.).”
ในภาษาไทย “โวหาร” เล็งถึง “คำพูด” แต่ในภาษาบาลี “โวหาร” มีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) ชื่อหรือการเรียกขานที่ใช้กันในเวลานั้น, การใช้ภาษาร่วมกัน, ตรรกวิทยา, วิธีปกติธรรมดาของการนิยาม, วิธีใช้, ตำแหน่ง, ฉายา (current appellation, common use, popular logic, common way of defining, usage, designation, term, cognomen)
(2) การค้า, ธุรกิจ (trade, business)
(3) คดีความ, กฎหมาย, พันธะทางกฎหมาย; วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคดีความ, วิชาธรรมศาสตร์ (lawsuit, law, lawful obligation; juridical practice, jurisprudence)
อริย + โวหาร = อริยโวหาร บาลีอ่านว่า อะ-ริ-ยะ-โว-หา-ระ ภาษาไทยอ่านว่า อะ-ริ-ยะ-โว-หาน แปลว่า “ภาษาของอารยชน” คือ การใช้ถ้อยคำอย่างคนที่เจริญแล้ว หมายถึง การพูด การบอก การแสดงออกตรงตามความเป็นจริง
คำว่า “อริยโวหาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
ในคัมภีร์อัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกาย พระพุทธองค์ตรัสถึง “อริยโวหาร” ไว้ดังนี้ –
…………..
อฏฺฐิเม ภิกฺขเว อริยโวหารา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยโวหารมี 8 ประการ
กตเม อฏฺฐ
8 ประการ คืออะไรบ้าง
อทิฏฺเฐ อทิฏฺฐวาทิตา
คือ ไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น 1
อสฺสุเต อสฺสุตวาทิตา
ไม่ได้ฟังมา ก็บอกว่าไม่ได้ฟังมา 1
อมุเต อมุตวาทิตา
ไม่ได้คาดคิด ก็บอกว่าไม่ได้คาดคิด 1
อวิญฺญาเต อวิญฺญาตวาทิตา
ไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ 1
ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐวาทิตา
เห็น ก็บอกว่าเห็น 1
สุเต สุตวาทิตา
ได้ฟังมา ก็บอกว่าได้ฟังมา 1
มุเต มุตวาทิตา
คาดคิด ก็บอกว่าคาดคิด 1
วิญฺญาเต วิญฺญาตวาทิตา ฯ
รู้ ก็บอกว่ารู้ 1
อิเม โข ภิกฺขเว อฏฺฐ อริยโวหาราติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แลคืออริยโวหาร 8 ประการ
ที่มา: อังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 165
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำหวาน
: ไม่ใช่อริยโวหารเสมอไป
#บาลีวันละคำ (4,579)
25-12-67
…………………………….
…………………………….