วิภัตติ (บาลีวันละคำ 4,580)

วิภัตติ
เรื่องสำคัญในภาษาบาลี
ภาษาไทยอ่านว่า วิ-พัด
“วิภัตติ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิภตฺติ” อ่านว่า วิ-พัด-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ภชฺ > ภ), แปลง ติ เป็น ตฺติ
: วิ + ภชฺ = วิภชฺ + ติ = วิภชติ > วิภติ > วิภตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การจำแนก” “การแบ่ง”
“วิภตฺติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้
(1) ศัพท์ทั่วไป: การแบ่ง, การแบ่งแยก, การจัดชั้น, รายละเอียด, การแตกต่างหลายอย่าง (division, distinction, classification, detail, variety)
(2) ศัพท์เฉพาะในไวยากรณ์: ความเปลี่ยนแปลงของนาม และ กริยา, การผันคำ, วิภัตติ (inflection of nouns & verbs, declensions, conjugation)
“วิภตฺติ” บาลีอ่านว่า วิ-พัด-ติ ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิภัตติ” อ่านว่า วิ-พัด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิภัตติ : (คำนาม) การแบ่ง, การจัดเป็นพวก, การจําแนก; (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ประเภทคําในภาษาบาลีเป็นต้นที่แปลงท้ายคําแล้วเพื่อบอกการกหรือกาล เช่น ปุริโส (อันว่าบุรุษ) เป็น กรรตุการก ปุริสํ (ซึ่งบุรุษ) เป็น กรรมการก จรติ (ย่อมเที่ยวไป) เป็น ปัจจุบันกาล จริ (เที่ยวไปแล้ว) เป็นอดีตกาล จริสฺสติ (จักเที่ยวไป) เป็น อนาคตกาล. (ป.).”
ขยายความ :
คำว่า “วิภัตติ” ที่เป็น “ศัพท์เฉพาะในไวยากรณ์” ในบาลีไวยากรณ์มี 2 ประเภท คือ วิภัตตินาม และ วิภัตติอาขยาต
หนังสือ “อธิบายบาลีไวยากรณ์ นามและอัพยยศัพท์” ฉบับมหามกุฏฯ อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
วิภัตตินามกับวิภัตติอาขยาตเหมือนกันโดยชื่อก็จริง แต่มีความหมายต่างกัน คือ วิภัตตินามเมื่อลงที่ท้ายศัพท์เป็นเครื่องหมาย ลิงค์ วจนะ และอายตนิบาต เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นลิงค์อะไร วจนะอะไร และจะใช้อายตนิบาตไหนจะเหมาะกัน วิภัตติอาขยาตเมื่อลงที่ท้ายธาตุเป็นเครื่องหมาย กาล บท วจนะ บุรุษ วาจก และปัจจัย ทั้งนี้เพื่อส่องเนื้อความให้ชัดเจนขึ้นกว่าปกติ.
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านเขียนว่า “ขอขำเป็นภาษาบาลี สิโยอังโยนาหิสนังสมาหิสนังสมิงสุสิโย”
ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีอ่านแล้วคงไม่รู้ว่า คำว่า “สิโยอังโยนาหิสนังสมาหิสนังสมิงสุสิโย” คืออะไร จึงขอถือโอกาสนำมาขยายความในที่นี้
คำว่า “สิโยอังโยนาหิสนังสฺมาหิสนังสฺมิงสุสิโย” เป็นวิภัตติประจำ “วิภัตตินาม” ซึ่งแบ่งเป็น 7 วิภัตติ แต่ละวิภัตติแบ่งเป็น 2 วจนะ (คือที่ไวยากรณ์ไทยเรียกว่า “พจน์”) คือ เอกวจนะ (เอกพจน์) และ พหุวจนะ (พหูพจน์)
ขอแสดงชื่อวิภัตติทั้ง 7 และวิภัตติประจำทั้งฝ่ายเอกวจนะและพหุวจนะ ดังนี้
เอกวจนะ พหุวจนะ
ปฐมาวิภัตติที่ ๑ สิ โย
ทุติยาวิภัตติที่ ๒ อํ โย
ตติยาวิภัตติที่ ๓ นา หิ
จตุตถีวิภัตติที่ ๔ ส นํ
ปัญจมีวิภัตติที่ ๕ สมา หิ
ฉัฏฐีวิภัตติที่ ๖ ส นํ
สัตตมีวิภัตติที่ ๗ สฺมึ สุ
เฉพาะปฐมาวิภัตติที่ ๑ แบ่งเป็น 2 ฐานะ คือเป็นประธานในประโยค และเป็น “อาลปนะ” คำสำหรับร้องเรียก ดังนั้น วิภัตติ สิ กับ โย จึงมีซ้ำ 2 ครั้ง
อีกคำหนึ่งที่เอ่ยถึงในคำอธิบาย คือคำว่า “อายตนิบาต” หมายถึง คำเชื่อมเมื่อจะแปลคำนามที่ประกอบวิภัตติต่าง ๆ
เช่น “ปุริส” แปลว่า “บุรุษ”
ถ้าประกอบปฐมาวิภัตติ เอกวจนะ คือ สิ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุริโส” ไม่ได้แปลว่า “บุรุษ” เฉย ๆ แต่แปลว่า “อันว่าบุรุษ”
ถ้าประกอบทุติยาวิภัตติ เอกวจนะ คือ อํ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุริสํ” ไม่ได้แปลว่า “บุรุษ” เฉย ๆ แต่แปลว่า “ซึ่งบุรุษ”
คำว่า “อันว่า” และ “ซึ่ง” ที่อยู่ข้างหน้านี่แหละคือ “อายตนิบาต”
คำที่เป็นอายตนิบาตแต่ละวิภัตติ มีดังนี้ –
…………..
ปฐมาวิภัตติที่ ๑ = อันว่า
ทุติยาวิภัตติที่ ๒ = ซึ่ง สู่ ยัง สิ้น
ตติยาวิภัตติที่ ๓ = ด้วย โดย อัน ตาม เพราะ มี
จตุตถีวิภัตติที่ ๔ = แก่ เพื่อ ต่อ
ปัญจมีวิภัตติที่ ๕ = แต่ จาก กว่า เหตุ
ฉัฏฐีวิภัตติที่ ๖ = แห่ง ของ เมื่อ
สัตตมีวิภัตติที่ ๗ = ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ
อาลปนะ = แน่ะ ดูก่อน ข้าแต่
…………..
ท่านที่ไม่มีพื้นบาลี อ่านไว้พอเป็นอุปนิสัยปัจจัย ก็คงได้ประโยชน์อยู่บ้าง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างที่อยากเรียน
: แต่ควรเรียนทุกอย่างที่อยากรู้
#บาลีวันละคำ (4,580)
26-12-67
…………………………….
…………………………….