ตัณหาร้อยแปด (บาลีวันละคำ 4,606)

ตัณหาร้อยแปด
นับอย่างไร
อ่านว่า ตัน-หา-ร้อย-แปด
“ตัณหา” เป็นคำบาลี
“ร้อยแปด” เป็นคำไทย
(๑) “ตัณหา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ตณฺหา” อ่านตามสะดวกว่า ตัน-หา อ่านตามสำเนียงบาลีว่า ตัน-หฺนา รากศัพท์มาจาก ตสฺ (ธาตุ = กระหาย) + ณฺห ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ
: ตสฺ + ณฺห = ตสณฺห + อา = ตสณฺหา > ตณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่หื่นกระหาย” “เหตุให้หื่นกระหาย” “เหตุให้กระหายอยากจะดูดดื่ม” “เหตุให้อยากได้อยากทำสิ่งที่ต่ำทราม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตณฺหา” ว่า –
(1) drought, thirst (แล้ง, กระหาย)
(2) craving, hunger for, excitement, the fever of unsatisfied longing (ความต้องการ, ความอยาก, ความตื่นเต้น, ความเร่าร้อนเพราะความอยากอันยังไม่สมปรารถนา)
บาลี “ตณฺหา” สันสกฤตเป็น “ตฺฤษฺณา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ตฤษ” “ตฤษา” และ “ตฺฤษฺณา” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ตฤษ, ตฤษา : (คำนาม) ความกระหาย, ความปรารถนา, กาม, กามานล; กามสุดา; thirst, wish, desire, lust; the daughter of Kāma, the deity of love.
(2) ตฺฤษฺณา : (คำนาม) ความกระหาย, ความใคร่; thirst, desire or wish.
“ตณฺหา” เขียนแบบไทยเป็น “ตัณหา” นอกจากใช้ว่า “ตัณหา” แล้วยังมีคำว่า “ตฤษณา” (ตฺริด-สะ-หฺนา) “ดำฤษณา” (ดํา-ริด-สะ-หฺนา) ซึ่งออกมาจาก “ตฺฤษฺณา” ในสันสกฤตอีกด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ตัณหา : (คำนาม) ความทะยานอยาก, โดยทั่วไปใช้หมายถึงความใคร่ในกาม. (ป.; ส. ตฺฤษฺณา).
(2) ตฤษณา : (คำแบบ) (คำนาม) ความปรารถนา, ความอยาก, ความดิ้นรน. (ส.; ป. ตณฺหา).
(3) ดำฤษณา : (คำนาม) ความปรารถนา, ความดิ้นรน, ความอยาก, ความเสน่หา. (ส. ตฺฤษฺณา; ป. ตณฺหา).
“ตัณหา” คืออะไร พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ตัณหา : ความทะยานอยาก, ความร่านรน, ความปรารถนา, ความอยากเสพ อยากได้ อยากเอาเพื่อตัว, ความแส่หา, มี ๓ คือ
๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่าใคร่
๒. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่
๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย.
…………..
(๒) “ร้อยแปด”
เป็นคำไทย บอกจำนวน 100 (หนึ่งร้อย) + 8 (แปด) = 108
ตัณหา + ร้อยแปด = ตัณหาร้อยแปด มีความหมายว่า “ตัณหาจำนวน 108”
ขยายความ :
ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่าที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบ ๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด”
“ตัณหาร้อยแปด = ตัณหาจำนวน 108” นับอย่างไร ขอนำพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [357] ตัณหา 108 ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาแสดงดังนี้ –
…………..
ตัณหา 108 ในพระบาลีเดิมเรียก ตัณหาวิจริต (ความเป็นไป หรือการออกเที่ยวแสดงตัวของตัณหา) [องฺ.จตุกฺก.21/199/290; อภิ.วิ.35/1033/530 = A.II.212; Vbh.393] จัดดังนี้
ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน = เมื่อมีความถือว่า “เรามี” จึงมีความถือว่า: เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราไม่เป็นอยู่ เราพึงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น ฯลฯ
ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก = เมื่อมีความถือว่า “เรามีด้วยเบญจขันธ์นี้” จึงมีความถือว่า: เราเป็นอย่างนี้ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างนั้นด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยเบญจขันธ์นี้ ฯลฯ
ตัณหาวิจริต 18 สองชุดนี้ รวมเป็น 36 × กาล 3 (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) = 108
อีกอย่างหนึ่ง ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) × ตัณหา 6 (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์) = 18 × ภายในและภายนอก = 36 × กาล 3 = 108 [วิสุทธิ.3/180 = Vism.568]
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความอยาก เป็นเรื่องธรรมดา
: ควบคุมความอยากไว้ได้ เป็นเรื่องไม่ธรรมดา
#บาลีวันละคำ (4,606)
21-1-68
…………………………….
…………………………….