บวชศีลจาริณี (บาลีวันละคำ 1,035)
บวชศีลจาริณี
อ่านว่า บวด-สี-ละ-จา-ริ-นี
ประกอบด้วย บวช + ศีล + จาริณี
(๑) “บวช”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“บวช : การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง (ออกมาจากคำว่า ป + วชฺ) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป”
“ป” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
“วชฺ” เป็นธาตุ (รากศัพท์) แปลว่า ไป, ถึง, เกิด, บรรลุ, แสวงหา, ปรุงแต่ง, กระทำ
มีธาตุอีกคำหนึ่ง คือ “วชฺชฺ” (วัด-ชะ) แปลว่า “เว้น”
ในบาลีไม่มีศัพท์ว่า “ปวช” ส่วน ป + วชฺช รูปบาลีเป็น “ปพฺพชฺชา” (ปับ-พัด-ชา) แปลว่า การถือเพศเป็นนักพรต, การทรงเพศสมณะ, การสละชีวิตครองเรือนออกบวช ซึ่งเป็นความหมายของ “บวช” นั่นเอง (พจน.54 บวช : ถือเพศเป็นภิกษุสามเณรหรือนักพรตอื่น ๆ)
(๒) “ศีล” (สี-ละ)
“ศีล” เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “สีล” อ่านว่า สี-ละ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เครื่องผูกจิตไว้” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
(๓) “จาริณี” (จา-ริ-นี)
บาลีเป็น “จารินี” รากศัพท์มาจาก
(1) จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ จ-(ร) เป็น อา
: จรฺ + ณี = จรี > จารี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติ-(เช่นนั้นเช่นนี้หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้)-เป็นปกติ”
(2) จารี + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = จารินี แปลว่า “สตรีผู้ประพฤติ-(เช่นนั้นเช่นนี้หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้)-เป็นปกติ”
(3) จารินี ในบาลี เขียนอิงสันสกฤตเป็น “จาริณี”
จาริณี < จารินี < จารี < จาร คำเดิม หมายถึง ดำเนินไป, มีความเป็นอยู่, มีประสบการณ์, ประพฤติ; กระทำ, ปฏิบัติ (walking, living, experiencing; behaving, acting, practicing)
ศีล + จาริณี = ศีลจาริณี แปลว่า “สตรีผู้ประพฤติศีลเป็นปกติ”
บวช + ศีลจาริณี = บวชศีลจาริณี เป็นการผสมคำแบบไทย แปลว่า บวชเป็นสตรีผู้ประพฤติศีลเป็นปกติ หมายถึงสตรีที่บวชโดยการถือศีลแปด
ข้อสังเกต :
๑ การบวชศีลจาริณีนั้น เดิมเรียกกันว่า “บวชชีพราหมณ์” คือผู้บวชนุ่งขาวห่มขาว สมาทานศีลแปด แต่ไม่โกนผม
๒ ต่อมาอาจมีผู้เห็นว่าคำว่า “ชีพราหมณ์” ยังไม่เหมาะสมเพราะไปพ้องกับศาสนาพราหมณ์ จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า “ศีลจาริณี” หรือ “บวชศีลจาริณี”
๓ คำว่า “ศีลจาริณี” ตามรูปศัพท์ใช้สำหรับสตรีเท่านั้น ผู้คิดคำนี้อาจนึกเพียงแค่ “ชี” หมายถึงสตรี จึงคิดคำที่เป็น “อิตถีลิงค์” ความจริงแล้ว “ชี” คำเดิมหมายถึงนักบวชชาย ต่อมาจึงขยายความกลายไปเป็นนักบวชหญิงในภาษาไทยปัจจุบัน
๔ ผู้ “บวชศีลจาริณี” มีทั้งชายและหญิง คำว่า “ศีลจาริณี” ถ้าใช้กับชายก็ผิดหลักไวยากรณ์ ถ้าไม่แก้ไข ต่อไปจะเป็นคำที่ผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง
๕ อันที่จริง คำว่า “ศีลจารี” (สี-ละ-จา-รี) อันเป็นรากศัพท์ชั้นต้น หมายถึงทั้งชายและหญิงได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องแผลงรูปเป็น “-จาริณี” แต่ประการใด
: แปดข้อ-ศีลจาริณี ถ้าดีมาก คนก็ยังอยากอนุโมทนา
: ศีลสองร้อยสามร้อย ถ้าดีน้อย คนก็ถอยศรัทธา
19-3-58