สุคะโต – สุขะโต (บาลีวันละคำ 3,165)
สุคะโต – สุขะโต
ความหมายเพี้ยนเพราะเขียนผิด
(๑) “สุคะโต”
เขียนแบบบาลีเป็น “สุคโต” อ่านว่า สุ-คะ-โต รูปคำเดิมคือ “สุคต” (สุ-คะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม. ง่าย) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: สุ + คมฺ = สุคมฺ + ต = สุคมต > สุคต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปดี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุคต” ว่า ดำเนินไปดี, เป็นสุข (faring well, happy)
บางกรณี “สุคต” ก็มีความหมายว่า มีความสุขหลังจากสิ้นชีวิต (having a happy life after death) คือเท่ากับย่อมาจาก สุคติ + คต = สุคติคต > สุคต แปลว่า “ไปสู่ภพภูมิที่ดี”
ตามปกติ คำว่า “สุคต” เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า ซึ่งมีคำแปลตามศัพท์หลายนัย หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปวิเคราะห์ (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) และคำแปลไว้ดังนี้ –
(1) โสภณคมนตฺตา สุคโต = ผู้ทรงมีการเสด็จไปที่งดงาม
(2) สุนฺทรํ ฐานํ สมฺมาสมฺโพธึ นิพฺพานเมว วา คโต อธิคโตติ สุคโต = ผู้ทรงถึงฐานะที่งดงามคือสัมมาสัมโพธิญาณหรือนิพพาน
(3) สมฺมา คโต อธิคโตติ สุคโต = ผู้ทรงบรรลุโดยชอบ
(4) สมฺมา คทติ วทตีติ สุคโต = ผู้ตรัสโดยชอบ
(5) โสภณํ คตํ ญาณมสฺสาติ สุคโต = ผู้มีพระญาณที่งดงาม
(6) สํสารา สุฏฺฐุ อปุนาวตฺติยา คตวาติ สุคโต = ผู้เสด็จออกจากสังสารวัฏด้วยดีโดยไม่หวนกลับมาอีก
(7) สปรสุขสิทฺธตฺถํ สมฺมา คตวาติ สุคโต = ผู้เสด็จไปโดยชอบเพื่อความสุขของตนและผู้อื่นให้สำเร็จ
(๒) “สุขะโต” เขียนแบบบาลีเป็น “สุขโต” อ่านว่า สุ-ขะ-โต เป็นคำที่เขียนผิดอันเกิดจากการที่อ่านคำว่า “สุคโต” เพี้ยนเป็น สุ-ขะ-โต แล้วเลยเขียนเป็น “สุขะโต” โดยเข้าใจผิดต่อไปอีกว่า “สุขะโต” (สุขโต) แปลว่า “มีความสุข”
โปรดเข้าใจว่า คำบาลีที่แปลว่า “มีความสุข” ไม่ได้เขียนว่า “สุขะโต” (สุขโต) แต่เขียนว่า “สุขิโต” (สุขิ– ไม่ใช่ สุข-)
“สุขิต” รากศัพท์มาจาก สุข (ความสุข) + อิต (อิ-ตะ, ผู้ถึง, ผู้ไปถึง, ผู้บรรลุถึง) = สุขิต (สุ-ขิ-ตะ) หมายถึง ผู้บรรลุถึงความสุข
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุขิต” ว่า happy, blest, glad (เป็นสุข, ได้รับพร, ดีใจ)
คำบาลีว่า “สุขโต” (สุ-ขะ-โต) ก็มี แต่รากศัพท์มาจาก สุข + โต ปัจจัย
“สุข” ในคำว่า “สุขโต” เป็นคำตรงกันข้ามกับคำในชุดไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา คำตรงกันข้ามคือ นิจฺจํ สุขํ อตฺตา
สุขํ > สุข + โต ปัจจัย ซึ่งแปลว่า “โดย-” หรือ “จาก-” = สุขโต แปลว่า “โดย (เห็นว่า) เป็นสุข” หรือ “จากความสุข”
“สุขโต” (สุขะโต) จึงไม่ได้มีความหมายว่า “มีความสุข” แต่ประการใดทั้งสิ้น
จำไว้เป็นหลักวิชาว่า –
: “สุคะโต” มี
: แต่ “สุขะโต” ไม่มี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่รู้ เรียนเอาเองได้
: ไม่เรียน รู้เอาเองไม่ได้
#บาลีวันละคำ (3,165)
10-2-64