มัททกุจฉิมิคทายวัน (บาลีวันละคำ 4,667)

มัททกุจฉิมิคทายวัน
ชื่อนี้มีความหมายว่าอย่างไร
อ่านว่า มัด-ทะ-กุด-ฉิ-มิ-คะ-ทา-ยะ-วัน
ประกอบด้วยคำว่า มัทท + กุจฉิ + มิค + ทาย + วัน
(๑) “มัทท”
เขียนแบบบาลีเป็น “มทฺท” อ่านว่า มัด-ทะ รากศัพท์มาจาก มทฺทฺ (ธาตุ = ย่ำยี) + อ (อะ) ปัจจัย
: มทฺทฺ + อ = มทฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การย่ำยี” หมายถึง บดขยี้; การขยี้ (crushing; kneading)
(๒) “กุจฉิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “กุจฺฉิ” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า กุด-ฉิ รากศัพท์มาจาก กุสฺ (ธาตุ = ด่า) + ฉิ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺ
: กุสฺ + ฉิ = กุสฺฉิ > กุจฺฉิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่ถูกด่า” (เพราะชอบร้องเวลาหิว) (2) “อวัยวะที่ชอบด่า” (คือชอบร้องเวลาหิว) หมายถึง โพรง, ท้อง, ครรภ์ (a cavity, the belly, the womb)
(๓) “มิค”
อ่านว่า มิ-คะ รากศัพท์มาจาก มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ค ปัจจัย
: มิ + ค = มิค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์อันมนุษย์ที่กินเนื้อและสัตว์ที่แข็งแรงกว่าเบียดเบียน”
“มิค” ในบาลี หมายถึง –
(1) สัตว์ป่า, สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ (a wild animal, an animal in its natural state)
(2) กวาง, เลียงผา, เนื้อทราย (a deer, antelope, gazelle)
(๔) “ทาย”
บาลีอ่านว่า ทา-ยะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ตัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อา ที่ ทา เป็น อาย (ทา > ทาย)
: ทา + ณ = ทาณ > ทา > ทาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตัดต้นไม้” หมายถึง ป่าไม้; ป่า; ละเมาะ (wood; jungle, forest; a grove)
หมายเหตุ :
มิค + ทาย = มิคทาย (มิ-คะ-ทา-ยะ) แปลตามรากศัพท์ที่แสดงมาว่า “ป่าเป็นที่อยู่แห่งเนื้อ” คือ “ทาย” แปลว่า ป่า
แต่คัมภีร์อรรถกถาหลายแห่งอธิบายคำว่า “ทาย” ในคำว่า “มิคทาย” ตรงกันว่า “ให้” กล่าวคือ –
“มิคานํ อภยตฺถาย ทินฺเน” = ใน (ป่า) อันเป็นที่พระราชทานไว้เพื่อให้เนื้อทั้งหลายอยู่อย่างปลอดภัย
นั่นคือ “ทาย” แปลว่า “สิ่งอันเขาให้” ไม่ได้แปลว่า “ป่า” ซึ่งพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “ทาย” คำนี้ (คนละคำกับ “ทาย” ที่แปลว่า ป่า) ว่า a gift, donation; share, fee (ของขวัญ, ของบริจาค; ส่วนแบ่ง, ค่าธรรมเนียม)
เป็นอันว่า “มิคทาย” มีความหมายได้ 2 นัย คือ –
(1) “ป่าเป็นที่อยู่แห่งเนื้อ” (ทาย แปลว่า ป่า)
(2) “เป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ” (ทาย แปลว่า ให้อภัย)
ดังนั้น ถ้ามีคำว่า “วัน” ซึ่งแปลว่า “ป่า” ต่อท้าย คำว่า “ทาย” ต้องแปลว่า “ให้อภัย” แปลว่า “ป่า” ไม่ได้ เพราะจะซ้ำกับ “วัน” ซึ่งแปลว่า “ป่า” อยู่แล้ว
(๕) “วัน”
บาลีเป็น “วน” อ่านว่า วะ-นะ รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ :
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ) –
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว แต่ “วน” ไม่ได้หมายถึงป่าทึบ ป่าดงดิบ หรือป่าที่เกิดตามธรรมชาติเสมอไป ในที่หลายแห่ง “วน” มีความหมายเหมือนคำอังกฤษว่า park คือสวนหรืออุทยานที่สร้างขึ้น เช่น เวฬุวัน เชตวัน รวมทั้ง “มัททกุจฉิมิคทายวัน” นี้ด้วย
การประสมคำ :
๑ มทฺท + กุจฺฉิ = มทฺทกุจฺฉิ (มัด-ทะ-กุด-ฉิ) แปลว่า “การเหยียบย่ำท้อง”
(๒) มิค + ทาย + วน = มิคทายวน (มิ-คะ-ทา-ยะ-วะ-นะ) แปลว่า “ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ” หมายถึง สวนหรืออุทยานที่สร้างขึ้นเพื่อให้กวางอาศัยอยู่ (deer park)
(๓) มทฺทกุจฺฉิ + มิคทายวน = มทฺทกุจฺฉิมิคทายวน (มัด-ทะ-กุด-ฉิ-มิ-คะ-ทา-ยะ-วะ-นะ) มีความหมายว่า “ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้ออันเป็นสถานที่เหยียบย่ำท้อง”
“มทฺทกุจฺฉิมิคทายวน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มัททกุจฉิมิคทายวัน”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
มัททกุจฉิมิคทายวัน : ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อมัททกุจฉิ อยู่ที่พระนครราชคฤห์ เป็นแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
…………..
ขยายความ :
คำว่า “มัททกุจฉิ” แปลตรงตัวว่า “บีบท้อง” มีความหมายที่เข้าใจได้ง่ายว่า เป็นสถานที่ที่มีผู้มาพยายาม “ทำแท้ง” และบุคคลผู้นั้นก็คือพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธนั่นเอง
ตามเรื่องว่า เมื่อพระนางทรงพระครรภ์ โหรหลวงทำนายว่า โอรสในพระครรภ์จะกระทำปิตุฆาตคือปลงพระชนม์พระราชบิดา พระนางไม่ต้องการให้เกิดเหตุเช่นนั้น จึงคิดจะ “ทำแท้ง” โดยการลอบเสด็จไปที่สวนกวางใกล้ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงพยายามทำ “มัททกุจฉิ = บีบท้อง” แต่ทำครั้งแรกไม่สำเร็จ จึงลอบเสด็จออกไปอีกหลายครั้ง แต่พระราชาทรงทราบเหตุเสียก่อน จึงทรงจัดการ “อารักขา” คือป้องกันทุกวิถีทาง จนในที่สุดก็ประสูติพระโอรส คือ พระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งต่อมาก็ทรงกระทำปิตุฆาตปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดาจริงดังที่โหรหลวงทำนาย
สวนกวางที่พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารลอบเสด็จออกไปทรงทำแท้ง จึงเรียกชื่อกันว่า “มัททกุจฉิมิคทายวัน = สวนกวางอันเป็นสถานที่เหยียบย่ำท้อง” ดังปรากฏในประวัติศาสตร์เมืองราชคฤห์มาจนทุกวันนี้
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 201-202 (อรรถกถาสามัญญผลสูตร)
…………..
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=1#
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ฆ่าคนอาจใช้เล่ห์กลไม่ต้องติดคุก
: แต่จะใช้เล่ห์กลให้ไม่ตกนรกไม่ได้เลย
#บาลีวันละคำ (4,667)
23-3-68
…………………………….
…………………………….