บาลีวันละคำ

ปฏิสังขาโย (บาลีวันละคำ 1,044)

ปฏิสังขาโย

อ่านว่า ปะ-ติ-สัง-ขา-โย

ปฏิสังขาโย” เป็นคำขึ้นต้นบท “ตังขณิกปัจจเวกขณะ” (ตัง-ขะ-นิ-กะ-ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ) ที่พระสงฆ์จะต้องสวดพิจารณาก่อนที่จะบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ ตัดมาจากคำว่า “ปฏิสงฺขา โยนิโส” (มีข้อความต่อไปอีก)

(๑) “ปฏิสงฺขา” (ปะ-ติ-สัง-ขา) เป็นคำกริยา แปลว่า “พิจารณาแล้ว-” (ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “ตฺวา ปัจจัย” หรือ “ตูนาทิปัจจัย” แปลว่า “-แล้ว-” และทำกริยาอื่นต่อไปอีก เช่นภาษาไทยว่า “อาบน้ำแล้วกินข้าว” “พิจารณาแล้ว-” เท่ากับ “อาบน้ำแล้ว” และทำกริยา “กินข้าว” ต่อไป)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิสงฺขา” เป็นกริยาวิเศษณ์ (adverb) ว่า carefully, intently, with discrimination (อย่างระมัดระวัง, โดยตั้งอกตั้งใจ, โดยพินิจพิเคราะห์)

(๒) “โยนิโส” ประกอบด้วย โยนิ + โส ปัจจัย (โดย-, ตาม-)

โยนิ” (โย-นิ) แปลได้หลาย คือ :

1) มดลูก (the womb)

2) กำเนิด, ช่องคลอด, โยนี, อาณาจักรแห่งความเป็นอยู่; ธรรมชาติ, บ่อเกิด (origin, way of birth, place of birth, realm of existence; nature, matrix)

3) ความละเอียดหรือปรีชา, ความรู้, ญาณ (thoroughness, knowledge, insight)

โยนิ + โส = โยนิโส แปลตามศัพท์ว่า “โดยต้นกำเนิด” (down to its origin or foundation) หมายถึง ละเอียด, ทั่วถึง, มีระเบียบ, อย่างฉลาดหรือสุขุม, อย่างถูกต้องหรือสมควร, โดยแยบคาย (thoroughly, orderly, wisely, properly, judiciously)

โยนิโส” เป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในคำว่า “โยนิโสมนสิการ” (ดูที่คำนี้)

ปฏิสงฺขา โยนิโส” (เป็น 2 คำ ไม่ใช่ศัพท์เดียวกัน) แปลว่า “พิจารณาแล้วโดยแยบคาย

ปฏิสงฺขา โยนิโส เรียกตัดคำตามสะดวกปากเป็น “ปฏิสังขาโย” แบบเดียวกับคำอีกหลายคำ เช่น :

สัพพะโร” ตัดมาจาก สพฺพโรควินิมุตฺโต

ภะวะตุสัพ” ตัดมาจาก ภวตุ สพฺพมงฺคลํ

นัจจะคี” ตัดมาจาก นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา

ปฏิสังขาโย” เป็นบท “ตังขณิกปัจจเวกขณะ” คือการพิจารณาในขณะที่พระสงฆ์จะบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช

ขอนำบทตังขณิกปัจจเวกขณะเฉพาะบทพิจารณาบิณฑบาต (อาหาร) พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอในที่นี้เป็นตัวอย่าง เพื่อเจริญปัญญา

ปะฏิสังขา  โยนิโส  ปิณฑะปาตัง  ปะฏิเสวามิ = เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคอาหาร

เนวะ  ทวายะ = มิใช่เพื่อเล่นสนุกสนาน

นะ  มะทายะ = มิใช่เพื่อความมัวเมา

นะ  มัณฑะนายะ = มิใช่เพื่อประดับประดา

นะ  วิภูสะนายะ = มิใช่เพื่อตกแต่ง

ยาวะเทวะ  อิมัสสะ  กายัสสะ ฐิติยา = แต่เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้

ยาปะนายะ = เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ

วิหิงสุปะระติยา = เพื่อระงับความลำบากทางกาย

พ๎รัห๎มะจะริยานุคคะหายะ = เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

อิติ  ปุราณัญจะ  เวทะนัง  ปะฏิหังขามิ = ด้วยการทำอย่างนี้เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว

นะวัญจะ  เวทะนัง  นะ อุปปาเทสสามิ = และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น

ยาต๎รา  จะ  เม  ภะวิสสะติ  อะนะวัชชะตา  จะ ผาสุวิหาโร  จาติ.= ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วย ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย ความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วย จักมีแก่เรา ดังนี้.

บุคลิกชาวพุทธ :

: ถึงจะท้องกิ่วหิวโซ

: ก็ต้องปฏิสังขาโยก่อนกิน

28-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย