อภินิหาร (บาลีวันละคำ 1,046)
อภินิหาร
อ่านว่า อะ-พิ-นิ-หาน
บาลีเป็น “อภินีหาร” อ่านว่า อะ-พิ-นี-หา-ระ
“อภินีหาร” รากศัพท์มาจาก อภิ (ยิ่ง, ใหญ่, พิเศษ) + นี (ออก) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา
: อภิ + นี + หรฺ = อภินีหร + ณ = อภินีหร > อภินีหาร แปลตามศัพท์ว่า “การนำออกอย่างยิ่งใหญ่”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อภินีหาร” ตามศัพท์ว่า “downward force” (กำลังถ่วงข้างล่าง) และให้ความหมายไว้ว่า การโน้มลงไป, การนำตนเองออกไป, วิธีที่จะกระทำ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, ความพยายาม, ความตั้งใจ, ปณิธาน (being bent on, taking oneself out to, way of acting, proper behaviour, endeavour, resolve, aspiration)
“อภินีหาร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อภินิหาร” (บาลี อภินี-, ไทย อภินิ-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อภินิหาร : (คำนาม) อํานาจแห่งบารมี, อํานาจบุญที่สร้างสมไว้, อํานาจเหนือปรกติธรรมดา. (ป. อภินีหาร; ส. อภิ + นิสฺ + หาร).”
ในภาษาไทย เรามักเข้าใจกันว่า “อภินิหาร” คืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้ใดผู้หนึ่งหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น หลวงปู่ทวดมีอภินิหารเหยียบน้ำทะเลจืด พระปฐมเจดีย์แสดงอภินิหารแผ่รัศมีออกมารอบองค์
แต่ในบาลี “อภินิหาร” ก็คือ การตั้งเจตจำนงหรือตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่และมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำการใหญ่ให้สำเร็จเพื่อประโยชน์แก่มวลมหาประชาชน
ตัวอย่างการทำ “อภินิหาร” ครั้งยิ่งใหญ่ที่ปรากฏในคัมภีร์ก็คือ เมื่อครั้งสุเมธดาบสตั้งปณิธานเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า องค์ประกอบที่ทำให้ “อภินิหาร” ครั้งนั้นสำเร็จมี 8 ประการ คือ :
(1) เกิดในกำเนิดมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ)
(2) เป็นเพศชาย (ลิงฺคสมฺปตฺติ)
(3) สามารถจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั้น (เหตุ)
(4) ได้พบพระพุทธเจ้าและได้รับพยากรณ์ว่าจะสำเร็จ (สตฺถารทสฺสนํ)
(5) ในขณะที่ตั้งความปรารถนา กำลังอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ (ปพฺพชฺชา)
(6) สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว (คุณสมฺปตฺติ)
(7) ประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต (อธิกาโร)
(8) ปรารถนาพุทธภูมิ คือพอใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ถอยกลับ (ฉนฺทตา)
: อภินิหารมีจริง ถ้าไม่ทิ้งการทำดี
: อภินิหารไม่มี ถ้าไม่ทำดีให้จริง
—————
(หยิบมาโดยวิสาสะจากโพสต์ของพระคุณท่าน Sunant Pramaha เมื่อ 29 มีนาคม 2558)
30-3-58