บาลีวันละคำ

สิทธิมนุษยชน (บาลีวันละคำ 1,290)

สิทธิมนุษยชน

อ่านว่า สิด-ทิ-มะ-นุด-สะ-ยะ-ชน

ประกอบด้วย สิทธิ + มนุษย + ชน

(๑) “สิทธิ

บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ

: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิ, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น. (อ. right).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ว่า right)

(๒) “มนุษย

บาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้มีใจสูง

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย = มนุสฺส แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก) = มนุสฺส แปลว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู

มนุสฺส” ในบาลีเป็น “มนุษฺย” ในสันสกฤต ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

นักภาษาอาจเสนอรากศัพท์ของ “มนุสฺส > มนุษฺย > มนุษย์” เป็นอย่างอื่นอีกหลากหลาย แต่ความหมายที่ยอมรับกันมากที่สุดคือ “ผู้มีใจสูง

(๓) “ชน

บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

สิทธิ + มนุษย + ชน = สิทธิมนุษยชน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิมนุษยชน : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) สิทธิพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี.”

อภิปราย :

๑. “สิทธิมนุษยชน” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า human rights

human = มนุษย์

rights = สิทธิ

ในที่นี้ ใช้คำว่า “มนุษยชน” แทน human : มนุษย + ชน = มนุษยชน (มะ-นุด-สะ-ยะ-ชน) แปลว่า คนคือมนุษย์

คำนี้เป็นคำซ้ำซ้อน เพราะหมายถึงสิ่งเดียวกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มนุสฺส” ว่า a human being, man (มนุษย์, คน) และแปล “ชน” ว่า an individual, a creature, person, man (บุคคล, สัตว์, คน)

๒. “มนุษยชน” เป็นคำสมาส : มนุษย + ชน = มนุษยชน = คนคือมนุษย์ แต่ “สิทธิมนุษยชน” เป็นคำประสม คือแปลจากหน้าไปหลัง = สิทธิของมนุษยชน (สมาสแปลจากหน้าไปหลังก็มี แต่คำนี้ไม่เข้าเกณฑ์) ถ้าจะให้เป็นสมาสปลอดข้อสงสัยก็ต้องเป็น “มนุษยชนสิทธิ” หรือ “มนุษยสิทธิ” แปลว่า “สิทธิของมนุษย์” ลำดับคำตรงกับ human rights (human = มนุษย์  rights = สิทธิ)

: สิทธิพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี

: คือละชั่ว ทำดี ได้ทุกคน

10 ธันวาคม : วันสิทธิมนุษยชน

10-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย