สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (บาลีวันละคำ 1,049)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร
รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ
สยามบรมราชกุมารี
คำอ่าน (ตามหลักภาษา) :
สม-เด็ด-พฺระ-เทบ-พะ-รัด-ตะ-นะ-ราด-ชะ-สุ-ดา
เจ้า-ฟ้า-มะ-หา-จัก-กฺรี-สิ-ริน-ทอน
รัด-ถะ-สี-มา-คุ-นา-กอน-ปิ-ยะ-ชาด
สะ-หฺยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี
————-
ขอบเขต :
(๑) แยกศัพท์ที่เป็นบาลีสันสกฤตในพระนามาภิไธย
(๒) แสดงความหมายของแต่ละศัพท์
(๓) ไม่แสดงความหมายโดยรวมในพระนามาภิไธย เว้นแต่คำที่สมาสสนธิกันบางคำ
————-
(๑) สมเด็จ
คำว่า “สมเด็จ” ผู้รู้ทางภาษาสันนิษฐานว่าเราได้มาจากเขมร จะเป็นคำเขมรแท้ๆ หรือเขมรได้มาจากใครอีกต่อหนึ่งเป็นข้อที่ควรศึกษาสืบค้นต่อไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมเด็จ : (คำนาม) คํายกย่องหน้าชื่อฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิด หรือแต่งตั้ง หมายความว่า ยิ่งใหญ่หรือประเสริฐ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จเจ้าพระยา สมเด็จพระราชาคณะ, ใช้แต่ลำพังว่า สมเด็จ ก็มี.”
(๒) พระ
คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
ในที่นี้ใช้ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –
“… ใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ … ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ …”
(๓) เทพ
“เทพ” บาลีเป็น “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วุ) เป็น เอ
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึง พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ฟ้า, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน อีกด้วย
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น วร เป็น พร วิวิธ เป็น พิพิธ : เทว > เทพ
(๔) รัตน
“รัตน” บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้ (2) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” (3) “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” (4) “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
รตน > รัตน ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง ถ้าใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี
(๕) ราชสุดา
ประกอบด้วย ราช + สุดา
“ราช” (บาลีอ่านว่า รา-ชะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ญฺ, ยืดเสียง อะ ที่ ร– เป็น อา
: รญฺชฺ > รช + ณ = รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า ผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
“สุดา” บาลีเป็น “สุตา” (สุ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาปกครอง” “ผู้เชื่อฟัง” หมายถึง ลูกสาว (ถ้า “สุต” (สุ-ตะ) หมายถึง ลูกชาย)
ราช + สุดา = ราชสุดา แปลตามศัพท์ว่า “ลูกสาวของพระราชา”
(๖) เจ้าฟ้า
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“เจ้าฟ้า ๑ : (คำนาม) สกุลยศสำหรับพระราชโอรสหรือพระราชธิดาซึ่งพระมารดาเป็นพระราชธิดาหรือพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์; เรียกเจ้าผู้ครองแคว้นไทยถิ่นอื่น เช่น เจ้าฟ้าเชียงตุง.”
(๗) มหา
“มหา” (มะ-หา, คำเดิม “มหนฺต”) แปลว่า ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ บางทีใช้ในความหมายว่า “มาก”
(๘) จักรี
“จักรี” เป็นรูปสันสกฤต (จกฺรี หรือ จกฺรินฺ) บาลีเป็น “จกฺกี” อ่านว่า จัก-กี
“จกฺกี” มาจาก จกฺก + อี = จกฺกี แปลว่า “ผู้มีจักร”
“จกฺก” (ไทยเขียน “จักร”) ความหมายสามัญคือ ล้อรถ สัญลักษณ์แห่งการขับเคลื่อนพัฒนาของมนุษยชาติ แล้วพัฒนาเป็นแผ่นกลม คือ อาวุธสำหรับขว้าง เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจเพื่อปราบยุคเข็ญ
เมื่อเกิดคติว่า พระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ จึงเรียกพระนารายณ์ว่า “จกฺกี – จักรี – ผู้มีจักร”
ต่อมา “จักรี” หมายถึง พระราชา ตามคติความเชื่อของไทยที่ถือว่าพระราชาเป็นพระนารายณ์อวตาร
คำว่า “จักรี” ยังหมายถึง “ราชวงศ์จักรี” ได้อีกด้วย
(๙) สิรินธร
บาลีเป็น “สิรินฺธร” อ่านว่า สิ-ริน-ทะ-ระ
ประกอบด้วย สิริ + ธร
“สิริ” (อ่านว่า สิ-ริ, บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ หรือ อี (ปัจจัยที่ทำให้เป็นอิตถีลิงค์)
: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี)
“สิริ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
1 ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)
2 โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)
3 เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)
4 (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)
“ธร” รากศัพท์มากจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย
: ธรฺ + อ = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)
สิริ + ธร ตรงตัวเป็น สิริธร แต่มีกฎว่า “ซ้อนพยัญชนะท้ายวรรคของคำหลัง” ซึ่งมีกระบวนการดังนี้ –
(1) “คำหลัง” ในที่นี้คือ “ธร” พยัญชนะต้นคำคือ “ธ”
(2) “พยัญชนะวรรค” ของ “ธ” คือ ต ถ ท ธ น
(3) “พยัญชนะท้ายวรรค” คือ “น”
(4) เอา “น” มาซ้อน คือแทรกระหว่าง สิริ – ธร และทำหน้าที่เป็นตัวสะกด
(5) : สิริ + นฺ + ธร = สิรินฺธร
“สิรินฺธร” เขียนแบบไทย ไม่มีจุดใต้ น เป็น “สิรินธร” อ่านแบบไทยว่า สิ-ริน-ทอน
“สิรินธร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งสิริ” (glorious) หมายถึง ผู้มีความรุ่งโรจน์ สง่างาม เป็นสิริมงคลแก่ผู้พบเห็น
“สิรินธร” เป็นพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อประสูติได้รับการถวายพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์”
(๑๐) รัฐ
“รัฐ” บาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต เป็น ฏฐ
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐสีมา” อ่านว่า รัด-ถะ-สี-มา
(๑๑) สีมา
“สีมา” รากศัพท์มาจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สี + ม = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันเขาผูกไว้” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish)
(๑๒) คุณากร
ประกอบด้วย คุณ + อากร
“คุณ” (บาลีอ่านว่า คุ-นะ) รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + อ ปัจจัย
: คุณฺ + อ = คุณ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี
(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย
(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
“คุณ” หมายถึง คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)
“อากร” (บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ) ตามรูปศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ข้างหน้า) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย
: อา + กรฺ + อ = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)
คุณ + อากร = คุณากร แปลว่า แหล่งกำเนิดแห่งความดีงาม
(๑๓) ปิยชาติ
ประกอบด้วย ปิย + ชาติ
“ปิย” (ปิ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = รักใคร่, ชอบใจ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, รัสสะ อี เป็น อิ
: ปี + ณฺย > ย = ปีย > ปิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลพึงรักใคร่” “สิ่งที่ควรรักชอบ”
“ชาติ” (บาลีอ่านว่า ชา-ติ) รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา หรือแปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น อา
: ชนฺ > ชา + ติ = ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด”
ปิย + ชาติ = ปิยชาติ แปลว่า “เกิดมาเป็นที่รัก”
(๑๔) สยาม
คำว่า “สยาม” (สะ-หฺยาม) พจน.54 บอกไว้ว่า “ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒”
“สยาม” คำนี้เคยสันนิษฐานกันว่ามาจาก “ศฺยาม” ในสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาม” (สา-มะ) แปลว่า ดำ, คล้ำ, สีน้ำตาล นักบาลีในไทยใช้ทับศัพท์ว่า “สฺยาม” (เซียม-มะ, มีจุดใต้ สฺ)
แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาม” อีกความหมายหนึ่งว่า yellow, of a golden colour, beautiful (เหลือง, มีสีทอง, งดงาม) คำแปลนี้น่าจะเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับชื่อดินแดน “สุวรรณภูมิ”
(๑๕) บรม
“บรม” บาลีเป็น “ปรม” (ปะ-ระ-มะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมร > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (ยิ่ง, สุงสุด) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย
: ป + รมฺ + ณ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่รักษาความสูงสุดของตนไว้ได้”
“ปรม” (ปะ-ระ-มะ) เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด
“ปรม” ภาษาไทยใช้ว่า “บรม” (บอ-รม) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม).”
(๑๖) ราชกุมารี
ประกอบด้วย ราช + กุมารี
“ราช” ดูคำนี้ที่หมายเลข (๕) ข้างต้น
“กุมารี” รากศัพท์มาจาก –
(1) กุมารฺ (ธาตุ = เล่น) + อ ปัจจัย = กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เล่นสนุก”
(2) กมุ (ธาตุ = ปรารถนา) + อาร ปัจจัย, แปลง อ ที่ ก-(มุ) เป็น อุ, ลบสระท้ายธาตุ
: กมุ > กุมุ > กุม + อาร = กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบิดามารดาปรารถนา”
(3) กุ (แผ่นดิน) + ขรฺ (ธาตุ = ขีด, เขียน) + ณ ปัจจัย, ยืดเสียง อะ ที่ ข เป็น อา, แปลง ข เป็น ม
: กุ + ขรฺ + ณ = กุขร > กุมร > กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ขีดดินเล่น”
(4) กุ (แผ่นดิน) + รมฺ (ธาตุ = สนุก, ยินดี) + ณ ปัจจัย, ผัน รมฺ เป็น มรฺ, ยืดเสียง อะ ที่ ม เป็น อา
: กุ + รมฺ > มร + ณ = กุมร > กุมาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สนุกอยู่บนดิน”
“กุมาร” (บาลีอ่านว่า กุ-มา-ระ) หมายถึง เด็กชาย
กุมาร + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = กุมารี หมายถึง เด็กหญิง
ราช + กุมารี = ราชกุมารี หมายถึง ธิดาของพระราชา, เจ้าหญิง
————-
๏ แถลงพระนามตามนัยบาลี เป็นอนุสรณีย์
เนื่องในศุภมงคลวาร
๏ แถลงศัพท์จับโดยพิสดาร ถวายเป็นราชสักการ
ประดับพระปัญญาบารมี๚ะ๛
2-4-58