บาลีวันละคำ

วังกทสกะ – ทศวรรษที่แปดแห่งชีวิต (บาลีวันละคำ 2459)

วังกทสกะทศวรรษที่แปดแห่งชีวิต

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ (พุทธศตวรรษที่ 10) ตอนมัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธินิทเทส แสดงการพิจารณารูปนามไว้เป็นอเนกนัย ตอนหนึ่งแสดงวิธีพิจารณาชีวิตมนุษย์โดยแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 10 ช่วง ช่วงละ 10 ปี มีชื่อเรียกดังนี้ –

ช่วงที่ 1 มันททสกะ = 10 ปีแห่งเด็กอ่อน

ช่วงที่ 2 ขิฑฑาทสกะ = 10 ปีแห่งการเล่น

ช่วงที่ 3 วัณณทสกะ = 10 ปีแห่งผิวพรรณ

ช่วงที่ 4 พลทสกะ = 10 ปีแห่งกำลัง

ช่วงที่ 5 ปัญญาทสกะ = 10 ปีแห่งปัญญา

ช่วงที่ 6 หานิทสกะ = 10 ปีแห่งความเสื่อม

ช่วงที่ 7 ปัพภารทสกะ = 10 ปีแห่งความค้อม

ช่วงที่ 8 วังกทสกะ = 10 ปีแห่งความค่อม

ช่วงที่ 9 โมมูหทสกะ = 10 ปีแห่งความหลงลืม

ช่วงที่ 10 สยนทสกะ = 10 ปีแห่งความนอน

ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี ภาค 3 หน้า 247

ขอนำคำเรียกช่วงชีวิตแต่ละช่วงมาแสดงความหมายของแต่ละคำเพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ตามสติปัญญา

…………..

วังกทสกะ” อ่านว่า วัง-กะ-ทะ-สะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า วังก + ทสกะ

(๑) “วังก

เขียนแบบบาลีเป็น “วงฺก” อ่านว่า วัง-กะ รากศัพท์มาจาก วงฺกฺ (ธาตุ = คด, งอ) + ปัจจัย

: วงฺกฺ + = วงฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่คด

วงฺก” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) :

(1) ส่วนงอ, ซอก, ส่วนโค้ง (a bend, nook, curve )

(2) ตะขอ (a hook)

(3) เบ็ด (a fish-hook)

เป็นคุณศัพท์:

(1) (ใช้ตรงๆ) คด, งอ, โค้ง, คดเคี้ยว (crooked, bent, curved)

(2) (ใช้ในเชิงอุปมา) คด, โกง, ไม่ซื่อสัตย์ (crooked, deceitful, dishonest)

(3) สงสัย, คดโกง, หลอกลวง, หลอกหลอน (doubtful, deceitful, deceptive, haunted)

(๒) “ทสกะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทสก” อ่านว่า ทะ-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทส (อ่านว่า ทะ-สะ แปลว่า “สิบ” (จำนวน 10) เป็นคำบอกจำนวน ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “สังขยา”) + ปัจจัย

: ทส + = ทสก แปลตามศัพท์ว่า “มีปริมาณสิบ” หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นับรวมกันเป็นกลุ่มได้กลุ่มละสิบ คือ หมวดสิบ, รอบสิบปี, ระยะสิบปี (a decad, decade, a decennial)

วงฺก + ทสก = วงฺกทสก เขียนแบบไทยเป็น “วังกทสกะ” แปลว่า “กลุ่มสิบของอายุที่เป็นวัยค่อม

ขยายความ :

แนวคิดที่แบ่งช่วงชีวิตเป็นทศวรรษนี้กำหนดให้มนุษย์มีอายุ 100 ปี อันเป็นอายุขัยของมนุษย์ในปัจจุบัน

วังกทสกะ” เป็นช่วงที่ 8 ของวัย กำหนดตั้งแต่อายุ 71 ถึง 80 ช่วงวัยนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก “ปัพภารทสกะ” (สิบปีค้อม) คือจากค้อมเป็นค่อม ถ้าบรรยายเป็นภาพก็คือ จากตัวตั้งตรงเป็นโค้ง (ปัพภาร-) จากโค้งเป็นคด (วังก-)

คำว่า “วังก-” มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “วงกต” ที่เราคุ้นกันดีในคำว่า “เขาวงกต” หมายถึงทางอันจะเข้าไปสู่ที่ตั้งของภูเขาลูกนั้นเป็นทางวกวนคดเคี้ยว ร่างกายมนุษย์ในช่วงวัยนี้ท่านเปรียบกับสิ่งที่มีลักษณะคดเคี้ยวเช่นนั้น จึงเรียกว่า “วังกทสกะ

คัมภีร์วิสุทธิมรรคเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “ตทา  หิสฺส  อตฺตภาโว  นงฺคลโกฏิ  วิย  วงฺโก  โหติ.” = ตอนนั้นร่างกายย่อมค่อมลงดุจหางไถ

คำว่า “หางไถ” ชาวนาทั่วไปย่อมเรียกว่า “หางยาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หางยาม : (คำนาม) หางคันไถตอนที่มือถือ.”

ความจริง “หางยาม” หมายรวมทั้งหมดตั้งแต่ส่วนที่มือจับเรื่อยลงมาจนถึงส่วนที่เรียกว่า “หัวหมู” (ส่วนของไถตอนที่ปลายสอดติดผาลชำแรกผิวดิน)

ถ้ายังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ก็โปรดดูภาพประกอบ

ดูรูปทรงของ “หางยาม” จะเห็นได้ว่าเป็นท่อนไม้ที่คดและเอียง ไม่ได้ตั้งฉากกับพื้นดิน ถ้ากำหนดให้ร่างกายมนุษย์ในวัยหนุ่มสาวตั้งฉากกับพื้นเมื่อยืนตรง เมื่อมาถึงวัย “ปัพภารทสกะ” เริ่มโอน ครั้นมาถึงวัย “วังกทสกะ” ก็เอียงลงไปอีก ประมาณว่าทำมุม 45 องศากับพื้นดิน

วังกทสกะ” อาจแปลเป็นคำสั้นๆ ว่า “สิบปีค่อม” หรือ “สิบปีคด

…………..

เป็นอันว่าร่างกายของมนุษย์เรานี้แม้จะบำรุงเลี้ยงอย่างดีวิเศษเพียงไร ในที่สุดก็ต้องเสื่อมทรุดโทรมไปตามวัย ซึ่งต่างจากสิ่งที่อิงอาศัยอยู่กับร่างกายคือ-จิตใจ

จิตใจนั้นถ้าบำรุงเลี้ยงให้ถูกวิธีก็จะเจริญมั่นคงยิ่งๆ ขึ้น ไม่มีเสื่อม และถ้าเลี้ยงบำรุงให้เจริญถึงที่สุดก็จะหลุดพ้นเป็นอิสระประลุถึงเอกันตบรมสุขได้เป็นอันแท้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านจะทำเพียงแค่งานของสัตว์โลก

หรือจะทำงานของบัณฑิตด้วย?

: งานของสัตว์โลกคือหาเลี้ยงชีวิต

: งานของบัณฑิตคือฝึกจิตให้ตรง

#บาลีวันละคำ (2,459)

7-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *