มหาศาล (บาลีวันละคำ 1,063)
มหาศาล
อ่านว่า มะ-หา-สาน
บาลีเป็น “มหาสาล” อ่านว่า มะ-หา-สา-ละ
ประกอบด้วย มหา + สาล
(๑) “มหา”
คำเดิม “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) แปลว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; important, venerable)
(๒) “สาล”
คำเดิม “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ส– เป็น อา + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์
: สลฺ + ณ = สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา” หมายถึง โรงเรือน, ที่พัก, ที่อาศัย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาลา” ว่า a large (covered & enclosed) hall, large room, house; shed, stable (ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์)
มหา (< มหนฺต) + สาลา = มหาสาลา แปลว่า “ศาลาใหญ่”
“มหาสาลา” ใช้เป็นคำคุณศัพท์ เปลี่ยนรูปเป็น “มหาสาล” แปลตามศัพท์ว่า “มีศาลาใหญ่” (having great halls) แสดงลักษณะของบุคคลก็หมายถึงผู้ที่มีผู้คนไปมาหาสู่เป็นจำนวนมากจึงต้องมีอาคารสถานที่ขนาดใหญ่และกว้างขวางไว้ต้อนรับ
“มหาสาล” เป็นสำนวน หมายถึง ผู้ร่ำรวย, ผู้มั่งคั่ง, ผู้ยิ่งใหญ่ (very rich, rich people, the great)
ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป ผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่พวกใดๆ ก็เรียกว่า “มหาศาล” ในหมู่พวกนั้นๆ เช่น –
กษัตริย์มหาศาล = ผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่กษัตริย์
พราหมณ์มหาศาล = ผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่พราหมณ์
มหาสาลา > มหาสาล ใช้ในภาษาไทยว่า “มหาศาล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหาศาล : (คำนาม) ผู้ยิ่งใหญ่ในวรรณะนั้น ๆ, ถ้าเป็นพราหมณ์ก็หมายความว่า มีศิษย์มาก, ถ้าเป็นกษัตริย์ก็หมายความว่า มีอํานาจมาก, ถ้าเป็นแพศย์ก็หมายความว่า มีทรัพย์มาก. (คำวิเศษณ์) มีทรัพย์สมบัติมากมาย เช่น เศรษฐีมหาศาล, (ภาษาปาก) อย่างยิ่ง, มากมาย, เช่น เขามีที่ดินมหาศาล. (ส.).”
: อาศัยความมั่งคั่งสร้างความดี
: น่านับถือกว่าอาศัยความดีสร้างความมั่งคั่ง
16-4-58