ภริยาทาน (บาลีวันละคำ 1,067)
ภริยาทาน
คำพูดชวนขัน แต่อาจใช้กันจริงๆ
ญาติมิตรทางเฟซบุ๊กท่านหนึ่งโพสต์ต้นฉบับบทบรรณาธิการที่ท่านเขียนลงในวารสารที่ท่านเป็นบรรณาธิการ เล่าถึงเรื่องที่ใช้เฟซบุ๊กว่ามีสาเหตุมาจากภรรยายกไอแพดเครื่องเก่าให้ และมีเฟซบุ๊กชื่อของภรรยาติดมาด้วย ท่านก็เลยลองใช้ดูแล้วก็เลยใช้ติดต่อเรื่อยมา
เครื่องไอแพดที่ภรรยามอบให้นั้นท่านเรียกเป็นคำชวนขันว่า “ภริยาทาน” และแปลไว้ด้วยว่า “เมียยกให้”
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าคำนี้น่าจะนำมาเขียนสู่กันอ่านเป็นความรู้ได้บ้าง
………….
“ภริยาทาน” ภาษาไทยอ่านว่า พะ-ริ-ยา-ทาน
บาลีอ่านว่า พะ-ริ-ยา-ทา-นะ
ประกอบด้วยคำว่า ภริยา + ทาน
(๑) “ภริยา” รากศัพท์คือ ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + อิ อาคม + ย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ภรฺ + อิ + ย = ภริย + อา = ภริยา แปลว่า “ผู้ที่สามีต้องเลี้ยงดู”
“ภริยา” ในภาษาไทยใช้ว่า “ภริยา” และ “ภรรยา”
(๒) “ทาน” ประกอบด้วย ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้”
“ทาน” มีความหมายว่า
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง, ความใจบุญ)
ภริยา + ทาน = ภริยาทาน แปลว่า “การให้ภริยา” หมายถึง การยกภรรยาให้แก่ผู้อื่น เช่นกรณีที่พระเวสสันดรยกพระนางมัทรีให้พระอินทร์ที่แปลงเป็นพราหมณ์มาขอเป็นต้น
คำบาลีที่หมายถึง “สิ่งที่มีผู้ยกให้” ท่านใช้ศัพท์ว่า “ทินฺน” (ทิน-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาให้แล้ว” และอีกศัพท์หนึ่งที่นิยมใช้คือ “ทตฺต” (ทัด-ตะ) แปลว่า “อันเขาให้แล้ว” เช่นกัน นิยมใช้เป็นชื่อคน เช่น “พฺรหฺมทตฺต” = พรหมทัต ที่เป็นชื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีในนิทานชาดก แปลว่า “ผู้อันพระพรหมให้” หรือ พรหมประทาน
และชื่อที่ชาวพุทธน่าจะคุ้นกันเป็นอันดีคือ “พระเทวทัต” บาลีเป็น “เทวทตฺต” (เท-วะ-ทัด-ตะ) แปลว่า “ผู้อันเทวดาให้” หรือ เทพประทาน
พระเถระองค์หนึ่งผู้เป็นอรรถกถาจารย์ร่วมสมัยกับพระพุทธโฆสะ ชื่อ “พุทธทัตตะ” (พุด-ทะ-ทัด-ตะ) แปลว่า “พระพุทธเจ้าให้”
ทินฺน หรือ ทตฺต ก็มีรากศัพท์มาจาก ทา ธาตุ เช่นเดียวกับ ทาน นั่นเอง แต่ประกอบปัจจัยคนละตัวตามกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ ใช้เป็นคำกริยาและเป็นคุณศัพท์ แปลว่า “(อัน-) ให้แล้ว” (given, granted, presented [by -])
ความแตกต่าง :
ทาน = การให้
ทินฺน, ทตฺต = (อันเขา) ให้แล้ว, สิ่งที่ (ผู้ใดผู้หนึ่ง) ให้แล้ว
ถ้าสังเกตที่คำแปลภาษาอังกฤษจะเข้าใจได้ชัดขึ้น
ทาน = giving
ทินฺน, ทตฺต = given (by -)
สรุปเป็นหลักวิชาว่า ถ้าจะกล่าวถึงคนหรือสิ่งที่มีผู้ให้มา ภาษาบาลีนิยมใช้คำว่า “ทินฺน” หรือ “ทตฺต” โดยมีคำระบุตัวผู้ให้นำหน้า เช่น :
พฺรหฺม + ทตฺต = พฺรหฺมทตฺต > พรหมทัต = พระพรหมให้
เทว + ทตฺต = เทวทตฺต > เทวทัต = เทวดาให้
พุทฺธ + ทตฺต = พุทฺธทตฺต > พุทธทัตตะ = พระพุทธเจ้าให้
ดังนั้น ของที่ “เมียยกให้” ตามเรื่องข้างต้นจึงควรเป็น “ภริยาทินฺน” (ภริยาทิน) หรือ “ภริยาทตฺต” (ภริยาทัต) แปลว่า “ภรรยาให้” ไม่ใช่ “ภริยาทาน”
“ภริยาทาน” ความหมายสามัญคือ “ยกภรรยาให้ผู้อื่น” จะอธิบายเชิงไวยากรณ์ให้แปลว่า “ภรรยาให้” ก็อาจทำได้ ไม่ผิด “หลักไวยากรณ์” แต่ผิด “หลักวรรณคดี” หรือหลักนิยมทางภาษา
เราท่านที่ได้อ่านเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าท่านผู้เขียนมีเจตนาจะใช้คำให้เกิดความขำขันเท่านั้น จึงไม่ควรถือเป็นเรื่องเคร่งครัดจริงจัง
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากท่านผู้เขียนเป็นผู้ทรงภูมิรู้ทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ คำที่ท่านพูดเล่นๆ อาจมีผู้เชื่อถือและนำไปใช้จริงๆ ก็ได้ ตัวอย่างในอดีตไม่ใกล้ไม่ไกลก็เคยมีมาแล้ว คือคำว่า “พระสะดุ้งมาร”
คำว่า “สะดุ้งมาร” เป็นคำที่เจ้านายพระองค์หนึ่งท่านเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งที่ช่างทำพระพักตร์ไม่งาม จึงรับสั่งเล่นๆ ว่า พระองค์นี้น่าจะกำลังสะดุ้งมาร
ปรากฏว่ามีผู้จดจำคำนี้ไปเรียกกันต่อๆ มา จนปัจจุบันนี้คำว่า “สะดุ้งมาร” กลายเป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธรูปางมารวิชัยที่นิยมเรียกกันแพร่หลายจนแทบจะศัพท์วิชาการที่ถูกต้องไปแล้ว
: อยากให้คำพูดศักดิ์สิทธิ์
: อย่าพูดให้ผิดกลายเป็นถูก
20-4-58