บาลีวันละคำ

สามีจิกรรม (บาลีวันละคำ 1,068)

สามีจิกรรม

อ่านว่า สา-มี-จิ-กำ

บาลีเป็น “สามีจิกมฺม” อ่านว่า สา-มี-จิ-กำ-มะ

ประกอบด้วย สามีจิ + กมฺม

(๑) “สามีจิ

พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) เสนอความเห็นว่า รากเดิมมาจาก “สมฺมา” ซึ่งแปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ ( thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

สมฺมา” บาลีเก่ายุคพระเวทเป็น “สมฺยจฺ” (samyac) แจกรูปเป็น “สมีจิหฺ” (samīcīḥ) แล้วกลายมาเป็น “สามีจี” และ “สามีจิ

พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า

สามีจิ : (คำคุณศัพท์) ชอบ, งาม.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

สามีจี : (คำคุณศัพท์) . สดุดี; praise.”

(๒) “กมฺม

รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

สามีจิ + กมฺม = สามีจิกมฺม > สามีจิกรรม

พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า

สามีจิกมฺม : การทำชอบ, การเคารพ.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า

สามีจิกรรม : การชอบ, กิจชอบ, การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า

สามีจิกรรม (Sāmīcikamma) : proper act of respect; opportune gestures of respect.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สามีจิกมฺม” เป็นอังกฤษว่า proper act, homage (การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามีจิกรรม : (คำนาม) การแสดงความเคารพตามธรรมเนียมของพระเณรในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย เช่น ระหว่างพระอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก ระหว่างอาจารย์กับอันเตวาสิก หรือระหว่างผู้แก่พรรษากับผู้อ่อนพรรษากว่า. (ส.; ป. สามีจิกมฺม).”

ควรทราบ :

สามีจิกรรม คือการแสดงความเคารพที่ผู้น้อยจะพึงกระทำต่อผู้ใหญ่ เช่น การลุกรับ การกราบไหว้ เป็นต้น ในโอกาสต่างๆ เช่นเมื่อพบท่าน เมื่อต้อนรับท่าน หรือเมื่อจะขอโอกาสกระทำกิจต่างๆ เมื่อท่านอยู่ในที่นั้น เช่น :

– พระผู้น้อยจะแสดงธรรมในที่ซึ่งมีพระผู้ใหญ่อยู่ด้วย ก็ทำ “สามีจิกรรม” ต่อท่านก่อน ด้วยการกราบหรือไหว้ก่อนจะขึ้นธรรมาสน์

– พระผู้น้อยแต่มีสมณศักดิ์สูงกว่า เมื่อจะขึ้นสู่อาสนะในงานซึ่งต้องนั่งตามลำดับสมณศักดิ์ ก็ทำ “สามีจิกรรม” ต่อพระผู้ใหญ่ที่สมณศักดิ์ต่ำกว่าก่อนด้วยการไหว้และขออนุญาต เป็นต้น

๒ “สามีจิกรรม” มิได้จำกัดเฉพาะในหมู่พระภิกษุสามเณรเท่านั้น แม้ชาวบ้านก็สามารถทำ “สามีจิกรรม” ต่อกันได้โดยหลักการเดียวกัน

: ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม มีสามีจิกรรมในหัวใจ

: ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยมานะ วางก้ามเกะกะไม่เห็นหัวใคร

————-

(ตามคำขอของ Ratana Burana)

21-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย