จรรยาบรรณ (บาลีวันละคำ 1,066)
จรรยาบรรณ [2]
หมายถึงอะไร
(๑) ทางภาษา
“จรรยาบรรณ” ประกอบด้วยคำว่า จรรยา + บรรณ
(1) “จรรยา” บาลีเป็น “จริย” มาจากรากศัพท์ว่า จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย อีกนัยหนึ่ง จรฺ + ณฺย ปัจจัย ลบ ณ ลง อิ อาคม = จริย และเป็น จริยา ก็มี
จริย, จริยา แปลว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)
จริย > จริยา > จรรยา (จัน-ยา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จรรยา : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่ในคณะ เช่น จรรยาแพทย์, นิยมใช้ในทางดี เช่น มีจรรยา หมายความว่า มีความประพฤติที่ดี. (ส. จรฺยา; ป. จริยา).”
(2) “บรรณ” (บัน) บาลีเป็น “ปณฺณ” (ปัน-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น) “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน” “สิ่งที่เขียวสด”
ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” หรือ “บรรณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรณ, บรรณ– : (คำนาม) ปีก; หนังสือ; ใบไม้. (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).”
จรรยา + บรรณ = จรรยาบรรณ (จัน-ยา-บัน)
(๒) ทางความหมาย
จรรยาบรรณ แปลตามศัพท์ว่า “หนังสือแสดงสิ่งที่ควรประพฤติ”
โปรดกำหนดให้ถูกเป็นเบื้องต้นว่า “จรรยาบรรณ” ไม่ได้แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรประพฤติ (ของผู้ที่ประกอบอาชีพ) เกี่ยวกับหนังสือ”
“จรรยาบรรณ” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำฝรั่งว่า code of conduct
คำว่า code พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีว่า
(1) สํหิตา = การรวบรวม
(2) นีติกฺขนฺธ = หมวดหมู่ของข้อบังคับ
(3) สิกฺขาสมูห = รวมข้อปฏิบัติ
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สํหิตา” บอกไว้ว่า –
“สํหิตา : (คำนาม) ธรรมศาสตร์, ตัวบทกฎหมายทั้งมวล; a code of laws.”
เป็นอันว่า code ในคำว่า code of conduct อันเป็นที่มาของคำว่า “จรรยาบรรณ” นั้น หมายถึง “แหล่งรวม” หรือที่นิยมแปลเป็นไทยว่า “ประมวล” นั่นเอง
โปรดสังเกตว่า ในคำเดิมอันเป็นต้นเหตุนั้น code ไม่ได้แปลว่า “หนังสือ” และไม่ได้เล็งถึงตัวหนังสือ หรือเล่มหนังสือ หรือ book หรือ “บรรณ” ใดๆ ทั้งสิ้น
“บรรณ” เป็นคำที่ผู้บัญญัติศัพท์ในภาษาไทยคิดขึ้นเองจากคำว่า code
อาจเป็นเพราะข้อบังคับหรือข้อปฏิบัติที่รวบรวมกันไว้นั้นมักต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือต้องมีฉบับ หรือมี book เป็นที่ปรากฏ ดังนั้น เมื่อพูดถึง code จึงนึกถึง book หรือ “บรรณ” เราจึงบัญญัติ code of conduct เป็นคำไทย (บาลีสันสกฤต) ว่า “จรรยาบรรณ”
คำว่า code of conduct นี้ ถ้าจะใช้คำที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ “บรรณ” จะเรียกว่า “ประมวลจรรยา” ก็จะตรงกับศัพท์พอดี และไม่ต้องมีปัญหาถกเถียงกันว่าเกี่ยวกับ “หนังสือ” อย่างไร เพียงไรหรือไม่
ดูเพิ่มเติมที่ : “จรรยาบรรณ” บาลีวันละคำ (637) 12-2-57
อภิปราย :
๑ เคยมีผู้แสดงความเห็นยืนยันว่า สิ่งที่เรียกว่า “จรรยาบรรณ” นั้น จะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรคือเป็นตัวหนังสือเท่านั้น เพราะ “บรรณ” แปลว่า “หนังสือ”
ความเห็นนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตัวอย่าง “จรรยาบรรณ” ที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็คือ ศีลของภิกษุในพระพุทธศาสนา เริ่มต้นด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อห้าม และภิกษุทั้งหลายก็สำเหนียกศึกษาปฏิบัติตามจนกลายเป็นสำนึกที่ประทับอยู่ในใจโดยไม่ต้องจดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร (คำสอนทั้งมวลในพระพุทธศาสนา มาจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ห้า)
อนุศาสนาจารย์ทั้ง 3 เหล่าทัพมีจรรยาบรรณว่า ต้องรักษาศีล 5 เป็นนิตย์ อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติเช่นนั้นมาก่อนแล้ว บางเหล่าทัพเพิ่งจะมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นภายหลัง ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือก็ปฏิบัติเช่นนั้นโดยไม่เคยได้เห็นลายลักษณ์อักษร และโดยไม่ได้คำนึงว่าจะมีลายลักษณ์อักษรเขียนไว้หรือไม่
๒ เวลานี้เกิดความเห็นขึ้นอีกว่า คำว่า “จรรยาบรรณ” ต้องใช้เกี่ยวกับผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับ “หนังสือ” เท่านั้น ใช้กับอาชีพอื่นถือว่าผิด เพราะไปแปลคำว่า “จรรยาบรรณ” ตามคำที่บัญญัติในภาษาไทย (ซ้ำแปลผิดเจตนาของศัพท์บัญญัติอีกด้วย)
“จรรยาบรรณ” ไม่ได้แปลว่า “สิ่งที่ควรประพฤติ (ของผู้ที่ประกอบอาชีพ) เกี่ยวกับหนังสือ”
“จรรยาบรรณ” จะหมายถึงอะไรต้องตามไปดูความหมายที่คำว่า code of conduct อันเป็นคำต้นเดิม
๓ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จรรยาบรรณ : ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกําหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้”
นี่คือมาตรฐานกลางของความหมายของคำว่า “จรรยาบรรณ” ในภาษาไทย
๔ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่มาก เช่น ใช้คำผิด ให้ความหมายผิด พิมพ์ผิด ตลอดจนใช้หลักเกณฑ์และวิธีการบางอย่างไม่ตรงกับความคิดเห็นของเรา รวมทั้งเหตุผลที่มีผู้นิยมอ้างว่า “พจนานุกรมฯ ไม่ใช่กฎหมาย” จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
แต่ไม่ว่าใครจะมองพจนานุกรมฯ อย่างไร ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคือมาตรฐานกลางของการสะกดคำและการบอกความหมายของคำต่างๆ ในภาษาไทย”
ถ้าแต่ละคนต่างเขียน ต่างให้ความหมายของคำในภาษาไทยไปตามที่ตนพอใจ ก็จะเกิดภาวะไร้ระเบียบวินัย หรือที่เรียกว่า “จลาจลทางภาษา”
๕ วิธีปฏิบัติที่ควรจะเป็นก็คือ ใครเห็นว่าคำใดควรสะกดอย่างไร คำใดควรมีความหมายอย่างไร ซึ่งไม่ตรงกับที่พจนานุกรมฯ แสดงไว้ ตลอดจนคำใดที่ควรมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ แต่ยังไม่มี หรือแม้แต่คำใดที่มีอยู่แล้ว แต่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ อีกต่อไป ดังนี้เป็นต้น ก็เสนอความเห็นไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นราชบัณฑิตยสภา (ราชบัณฑิตยสถานเดิม) แล้วถกเถียงสัประยุทธ์กันด้วยสติปัญญาให้ผู้รับผิดชอบจนด้วยเหตุผล แล้วประกาศแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เป็นไปตามที่เราเสนอ
ปฏิบัติเช่นนี้จึงจะถูกต้องตามวิถีทางของสังคมที่เจริญแล้ว
: ถ้าเคารพกติกา ก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องจรรยาบรรณ
19-4-58