บาลีวันละคำ

คิ้ว (บาลีวันละคำ 1,070)

คิ้ว

บาลีว่าอย่างไร

ทำไมพระไทยต้องโกนคิ้ว

คิดแบบคนสมัยใหม่ที่นึกถึงคำอังกฤษได้ง่าย (แทบจะง่ายกว่าคำไทยของตัวเอง)

คิ้ว” อังกฤษว่า eyebrow

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล eyebrow ว่า ขนคิ้ว

(โปรดตั้งข้อสังเกตว่า คิ้ว กับ ขนคิ้ว หมายถึงสิ่งเดียวกันหรือไม่)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล eyebrow เป็นบาลีว่า

(1) bhamu ภมุ (พะ-มุ)

(2) bhamukā ภมุกา (พะ-มุ-กา)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภมุ” และ “ภมุก” เป็นอังกฤษว่า eyebrow

เป็นอันยันกันและกันได้ว่า “คิ้ว” บาลีเป็น “ภมุ” และ “ภมุก

(๑) “ภมุ” (พะ-มุ) รากศัพท์มาจาก ภมฺ (ธาตุ = หมุน, วน) + อุ ปัจจัย

: ภมฺ + อุ = ภมุ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หมุนได้” คือไหวตัวหรือขยับตัวได้เองไม่ต้องใช้มือหรืออวัยวะอื่นมาจับต้อง (โปรดเทียบกับ “หู” ซึ่งขยับตัวเองไม่ได้) อาการ “หมุนได้” นี้ ภาษาไทยเรียกว่า “ยักคิ้ว

(๒) “ภมุก” (พะ-มุ-กะ) รากศัพท์มาจาก ภมฺ (ธาตุ = หมุน, วน) + อุ ปัจจัย + สกรรถ (อ่านว่า “กะ-สะ-กัด) คือ อักษร ที่ลงท้ายศัพท์แล้วความหมายเท่าเดิม

: ภมฺ + อุ = ภมุ + = ภมุก แปลเหมือน “ภมุ

(๓) ยังมีอีกศัพท์หนึ่งที่แปลว่า “คิ้ว” ได้เช่นกันคือศัพท์ว่า “ภู” รากศัพท์มาจาก ภมฺ (ธาตุ = หมุน, วน) + อู ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ภมฺ > + อู = ภู แปลเหมือน “ภมุ

ความรู้ทางไวยากรณ์ :

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี บอกศัพท์เป็น “ภมุกา” คือเป็นอิตถีลิงค์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่าศัพท์นี้เป็นอิตถีลิงค์

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย บอกศัพท์เป็น “ภมุโก” คือเป็นปุงลิงค์

ดูเหมือนแย้งกัน แต่เท่าที่พบในคัมภีร์ ศัพท์นี้เป็นทั้งปุงลิงค์และอิตถีลิงค์

สรุปว่า –

๑ “คิ้ว” (รวมทั้งขนคิ้ว) บาลีใช้ศัพท์ว่า ภมุ, ภมุก (ภมุกา) และ ภู

๒ กิริยาที่ “ยักคิ้ว” ศัพท์บาลีใช้ว่า “ภมุกํ อุกฺขิปติ” (เขายักคิ้ว), “ภมุกํ อุกฺขิปิสฺสามิ” (ข้าพเจ้าจะ (ให้สัญญาณด้วยการ) ยักคิ้ว)

: ทำไมพระไทยต้องโกนคิ้ว ?

๑ ในพระวินัยปิฎก เมื่อกล่าวถึงผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุ ก็บอกว่า “ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ” ไม่ได้บอกว่าต้อง “โกนคิ้ว” ด้วย จึงทำให้มีผู้สงสัยว่าแล้วทำไมพระไทยจึงต้องโกนคิ้ว (อ้างว่าพระชาติอื่นไม่โกนคิ้ว) เป็นที่มาของการให้ความเห็นกันไปต่างๆ นานา

๒ โปรดทราบว่า การโกนคิ้วท่านว่าไม่ได้เป็น “วินัย” แต่เป็น “จารีต” ของพระไทย คือเป็นสิ่งที่ท่านถือปฏิบัติกันมาช้านาน มีเหตุผลอย่างไร ใครอยากรู้ก็ค้นคว้าศึกษากันไป แต่ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร ถ้าจะเป็นพระไทยก็ต้องปฏิบัติตามจารีตนี้

๓ การปฏิบัติบางอย่างแม้ไม่มีข้อบังคับในพระธรรมวินัยว่าต้องทำหรือห้ามทำ แต่เมื่อไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย จะทำก็ไม่เป็นเครื่องขัดข้องแต่ประการใด (บางเรื่องท่าน “ห้ามทำ” ไว้ชัดเจน เช่น “ห้ามนำออกซึ่งขนในที่แคบ” กรณีอย่างนี้ถ้าทำเข้าก็ผิด แต่กรณีโกนคิ้ว ไม่พบว่ามีข้อห้ามไว้) ขึ้นอยู่กับ “จารีต” ของสังคมนั้นๆ เป็นสำคัญ

๔ ในที่หลายๆ แห่งในคัมภีร์ พรรณนาถึงความงามในร่างกายว่า “คิ้วงาม” การโกนคิ้วก็เข้าหลักของบรรพชิตที่ว่าควรตัดความกังวลผูกพันอยู่กับความสวยงามอันเป็นภาระทางโลก

: ถ้าเกินดีกว่าขาด ก็อย่ากังวลเรื่องขาดดีกว่าเกิน

—————–

(ตามคำขอของพระคุณท่าน ใบไม้ผลัดใบ ใบใหม่มาแทน)

23-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย