ปรารภ – ปรารมภ์ (บาลีวันละคำ 1,071)
ปรารภ – ปรารมภ์
ดูคุ้นๆ แต่ไม่รู้จัก
ปรารภ อ่านว่า ปฺรา-รบ
ปรารมภ์ อ่านว่า ปฺรา-รม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปรารภ : (คำกริยา) กล่าวถึง; ตั้งต้น; ดําริ. (ส.ปฺรารพฺธ).
(2) ปรารมภ์ : (คำกริยา) เริ่มแรก; วิตก, รําพึง, ครุ่นคิด. (ส. ปฺรารมฺภ ว่า เริ่มแรก, เริ่มต้น).
สองคำนี้ พจน.54 ไม่ได้เอ่ยถึงบาลี แต่บอกเป็นนัยว่ามาจากสันสกฤต คือ –
: ปรารภ สันสกฤตเป็น “ปฺรารพฺธ”
: ปรารมภ์ สันสกฤตเป็น “ปฺรารมฺภ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ :
(1) ปฺรารพฺธ : (คำนาม) ‘ปรารัพธ, แผลงเปน-ปรารพธ์,’ อาทิ, อารัมภะ, ต้น; beginning.
(2) ปฺรารมฺภ : (คำนาม) ‘ปรารัมภ, แผลงเปน-ปรารมภ์,’ อุปกรม, อาทิ, ต้น; beginning.
บาลีมีคำว่า –
(1) “อารพฺภ” (อา-รับ-พะ) เป็นคำกริยาคงรูป (indeclinable) แปลว่า เริ่มต้น, รับทำ ฯลฯ (beginning, undertaking etc.)
“อารพฺภ” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + รภฺ (หรือ รภิ) (ธาตุ = เริ่ม) + ตฺวา ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุกับปัจจัยเป็น พฺภ
: อา + รภฺ = อารภ + ตฺวา > (-ภ + ตฺวา = พฺภ =) อารพฺภ แปลว่า “ปรารภ”
ถ้าลากเข้าบาลี : ป (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน) + อารพฺภ = ปารพฺภ ลบ พฺ = ปารภ > ปรารภ
(2) “อารมฺภ” (อา-รำ-พะ) เป็นคำนาม แปลว่า (1) ความเพียร, ความพยายาม, การเริ่มต้นทำงาน (attempt, effort, inception of energy) (2) การค้ำจุน, ความมุ่งหมาย, ความประสงค์, สิ่งของ (support, ground, object, thing)
“อารมฺภ” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + รภฺ (หรือ รภิ) (ธาตุ = เริ่ม) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ คือ ร– เป็น รํ, แปลงนิคหิตเป็น มฺ
: อา + รภฺ > อารํภ > อารมฺภ + อ = อารมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเริ่ม”
ถ้าลากเข้าบาลี : ป (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน) + อารมฺภ = ปารมฺภ > ปรารมภ์
ที่แสดงมานี้หมายความว่า ถ้าจะให้เป็นบาลีก็มีทางอธิบายให้เป็นได้ แต่เกณฑ์ตัดสินอยู่ที่ว่า ในคัมภีร์บาลีไม่พบคำที่ใช้ในรูปเช่นนี้ (ปารพฺภ และ ปารมฺภ) เพราะฉะนั้นก็สรุปได้เพียงว่า
ปรารภ ตรงกับบาลีว่า “อารพฺภ”
ปรารมภ์ ตรงกับบาลีว่า “อารมฺภ”
: ถ้าเห็น “ผลตำแย”
: ก็รู้ได้แน่ว่าไม่ได้เกิดจาก “ต้นลำไย”
: ถ้าปรารภ “เหตุ” เป็นกุศล
: ก็อย่าปรารมภ์ว่า “ผล” จะเป็นอะไร
24-4-58