บาลีวันละคำ

อาชีวัฏฐมกศีล (บาลีวันละคำ 1,072)

อาชีวัฏฐมกศีล

ศัพท์วิชาการ

วันนี้เป็นวันพระ ขออนุญาตพา บาลีวันละคำ เข้าวัดเต็มๆ สักวันหนึ่ง

อาชีวัฏฐมกศีล” อ่านว่า อา-ชี-วัด-ถะ-มะ-กะ-สีน

ประกอบด้วย อาชีว + อัฏฐมก + ศีล

(๑) “อาชีว

อ่านว่า อา-ชี-วะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + ปัจจัย

: อา + ชีวฺ + = อาชีว แปลตามศัพท์ว่า “การอันเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” (เมื่อทำกิจเช่นนั้นก็เป็นเหตุให้ยืนชีพอยู่ได้ ไม่ตายไปเสีย) หมายถึง อาชีพ, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, การเลี้ยงชีพ (livelihood, mode of living, living, subsistence)

(๒) “อัฏฐมก

บาลีเขียน “อฏฺฐมก” (อัด-ถะ-มะ-กะ) มาจาก –

: อฏฺฐ (จำนวนแปด) + (ลำดับที่-) + (กลุ่ม, พวก, ชุด) = อฏฺฐมก แปลว่า “-ชุดที่มี-(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง)-เป็นลำดับที่แปด

อาชีว + อฏฺฐมก = อาชีวฏฺฐมก > อาชีวัฏฐมก จึงแปลว่า (ศีล) “ชุดที่มีอาชีวะเป็นลำดับที่แปด

(๓) “ศีล

บาลีเป็น “สีล” (สี-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + ปัจจัย

: สีลฺ + = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ยืดเสียง อิ ที่ สิ เป็น อี

: สิ + = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้

นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

สีล” หมายถึง :

(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)

(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)

ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล

อาชีวฏฺฐมก + สีล = อาชีวฏฺฐมกสีล > อาชีวัฏฐมกศีล แปลตามศัพท์ว่า “ศีลมีอาชีวะเป็นข้อที่แปด” หมายความว่า ศีลเจ็ดข้อ แต่นับรวมอาชีวะคือการทำมาหาเลี้ยงชีพในทางสุจริตเป็นข้อที่แปด

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [241] แสดงเรื่อง “อาชีวัฏฐมกศีล” ไว้ดังนี้ :

[241] ศีล 8 ทั้งอาชีวะ หรือ อาชีวัฏฐมกศีล (ศีลมีอาชีวะเป็นคำรบ 8, หลัก

ความประพฤติรวมทั้งอาชีวะที่บริสุทธิ์ด้วยเป็นข้อที่ 8 — ājīvaṭṭhamaka-sīla: virtue having livelihood as eight; the set of eight precepts of which pure livelihood is the eighth)

1.–7. ตรงกับ กุศลกรรมบถ 7 ข้อต้น (กายกรรม 3 วจีกรรม 4) คือ

1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากปลงชีวิต)

2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย)

3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากประพฤติผิดในกาม)

4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากพูดเท็จ)

5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดส่อเสียด)

6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดคำหยาบ)

7. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี (เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ)

8. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง)

อาชีวัฏฐมกศีลนี้ เป็นศีลส่วนอาทิพรหมจรรย์ คือ เป็นหลักความประพฤติเบื้องต้นของพรหมจรรย์ กล่าวคือ มรรค เป็นสิ่งที่ต้องประพฤติให้บริสุทธิ์ในขั้นต้นของการดำเนินตามอริยอัฏฐังคิกมรรค

ว่าโดยสาระ อาชีวัฏฐมกศีล ก็คือ องค์มรรค 3 ข้อ ในหมวดศีล คือข้อที่ 3, 4, 5 ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ นั่นเอง

————

อาชีวัฏฐมกศีล” มักเรียกกันผิดๆ เป็น “อาชีวมัฏฐกศีล” (อา-ชี-วะ-มัด-ถะ-กะ-สีน)

ในบาลีไม่มีศัพท์ว่า “อาชีวมัฏฐกศีล” และรูปคำเช่นนี้ก็แปลไม่ได้ความ

เว้นไว้แต่จะลากถูลู่ถูกังไปว่า อาชีว + มฏฺฐก > มตฺถก (ศีรษะ, ที่สุด, ส่วนยอด) + ศีล = อาชีวมัฏฐกศีล แปลว่า ศีลซึ่งมีอาชีวะเป็นส่วนยอด = อาชีวะเป็นลำดับที่สูงสุดในศีลชุดนี้

ฟังดูก็เข้าเค้าอยู่ แต่โปรดทราบว่าเป็นการอธิบายผิดให้เป็นถูก ไม่อาจถือเอาเป็นหลักฐานได้

: รักษาจิตได้ตัวเดียว

: รักษาศีลได้ทุกข้อ

————-

(ตามคำแนะนำของ Panca Kalyana Dhamma)

25-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย