ประสูติการ – ประสูติกาล (บาลีวันละคำ 1,080)
ประสูติการ – ประสูติกาล
ประกอบด้วย ประสูติ + การ, หรือ + กาล
หลักการอ่าน :
๑ ประสูติ อยู่เดี่ยวหรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า ปฺระ-สูด
๒ ประสูติ– มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ปฺระ-สู-ติ-
เช่นในคำว่า “ประสูติการ” หรือ “ประสูติกาล” ก็อ่านว่า ปฺระ-สู-ติ-กาน
(๑) “ประสูติ”
บาลีเป็น “ปสูติ” (ปะ-สู-ติ) รากศัพท์มาจาก ป (ทั่วไป, ปกติ) + สู (ธาตุ = คลอดลูก) + ติ ปัจจัย
: ป + สู + ติ = ปสูติ แปลตามศัพท์ว่า “การคลอดลูก” คือ การให้กำเนิด, การเกิด (bringing forth, birth)
(๒) “การ”
บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา
: กรฺ + ณ = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
“การ” มีความหมายว่า การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา ความเคารพ หรือความนับถือ; ผู้ทำ ผู้จัดการ หรือผู้ค้า
ความหมายของ “การ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.
(2) –การ ๒ : (คำนาม) ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.
(3) –การ ๓ : คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.
ในที่นี้ “การ” ใช้ตาม –การ ๓
(๓) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ประสูติ + การ = ประสูติการ
ประสูติ + กาล = ประสูติกาล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ประสูติ, ประสูติ– : (ราชาศัพท์) (คำนาม) การเกิด; การคลอด. (คำกริยา) เกิด; คลอด. (ส. ปฺรสูติ; ป. ปสูติ).
(2) ประสูติการ : (คำนาม) การเกิด, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระประสูติการ.
(3) ประสูติกาล : (คำนาม) เวลาเกิด, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระประสูติกาล.
ปัญหา :
เมื่อมีทั้ง “ประสูติการ” และ “ประสูติกาล” ทำให้มีผู้ใช้ปนเปกันไปทั้งสองคำ จึงเกิดปัญหาว่า
ประสูติการ : ใช้ในกรณีไหน
ประสูติกาล : ใช้ในกรณีไหน
หรือว่า ไม่ว่าจะกรณีไหนๆ ก็ใช้ได้ทั้งสองคำ ?
ข้อเสนอ :
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ขอเสนอให้กำหนดวิธีใช้ดังนี้ :
๑ ประสูติการ (-การ- ร เรือ) ใช้เมื่อพูดถึงเจ้านายผู้หญิงคลอดลูก
จะคลอดเมื่อไร คลอดที่ไหน ก็พูดต่อไปได้ แต่คงใช้ ประสูติการ เพราะเป็นการพูดถึง “การคลอด” = ประสูติการ
๒ ประสูติกาล : (-กาล ล ลิง) ใช้เมื่อพูดถึงเจ้านาย (ทั้งชายและหญิง) ว่าเกิดเมื่อไร
ประสูติการ : การคลอด (ของแม่)
ประสูติกาล : เวลาเกิด (ของลูก)
เมื่อพูดถึงการคลอด (ของแม่) ใช้ “ประสูติการ” (-การ ร เรือ)
เมื่อพูดถึงเวลาเกิด (ของลูก) ใช้ “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง)
เปรียบเทียบความแตกต่าง :
เหตุการณ์ : เจ้าหญิง เอ คลอดลูกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เป็นหญิง ชื่อ เจ้าหญิง บี
(๑) พูดถึงเจ้าหญิง เอ (แม่):
เจ้าหญิง เอ ทรงมีพระประสูติการ เป็นพระธิดา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เวลา 14:34 นาฬิกา
ใช้ “ประสูติการ” (-การ ร เรือ) เพราะประธานคือ “เจ้าหญิง เอ” (แม่) ทำกริยา “มีพระประสูติการ” คือ “การคลอดลูก”
จะใช้ “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง) ไม่ได้ เพราะไม่ได้พูดถึง “เวลาเกิด” หรือ “เวลาคลอด” (ประสูติกาล) ของประธานในประโยค ( = ประธานในประโยคเกิดเมื่อไร)
(๒) พูดถึงเจ้าหญิง บี (ลูก):
เจ้าหญิง บี ทรงมีพระประสูติกาล เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เวลา 14:34 นาฬิกา
กรณีนี้เป็นการพูดถึงเจ้าหญิง บี (ประธานในประโยค) ว่าเกิดเมื่อไร จึงต้องใช้ “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง) = เวลาเกิด
จะใช้ “ประสูติการ” (-การ ร เรือ) ไม่ได้ เพราะไม่ได้พูดถึง “การคลอดลูก” (ประสูติการ) ของเจ้าหญิง บี ซึ่งเป็นประธานในประโยค
วิธีพิสูจน์ความเหมาะสมกลมกลืนหรือความสมเหตุสมผลที่แน่นอนวิธีหนึ่งก็คือ เอาความหมายธรรมดาใส่แทนคำราชาศัพท์
ประสูติการ : การคลอดลูก (ของแม่)
ประสูติกาล : เวลาเกิด (ของลูก) หรือจะให้หมายถึง “เวลาคลอด” (ของแม่) ก็ได้
พิสูจน์ :
(๑) ใช้ “ประสูติการ” = การคลอดลูก
: เจ้าหญิง เอ ทรงมี “การคลอดลูก” เป็นพระธิดา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เวลา 14:34 นาฬิกา
(๒) ใช้ “ประสูติกาล” = เวลาคลอด
: เจ้าหญิง เอ ทรงมี “เวลาคลอด” เป็นพระธิดา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เวลา 14:34 นาฬิกา
จะเห็นได้แล้วว่า “ประสูติการ” (การคลอดลูก) เหมาะสมกลมกลืนสมเหตุสมผลกว่า “ประสูติกาล” (เวลาคลอด)
อภิปราย :
๑ เข้าใจว่าคำเดิมแท้ที่ใช้ คือ “ประสูติการ” (-การ ร เรือ) ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “การคลอดลูก”
๒ ต่อมา มีคนเขียนคำนี้เป็น “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง) ด้วยความเข้าใจผิด แบบเดียวกับ “ดนตรีการ” มีคนเขียนผิดเป็น “ดนตรีกาล” นั่นเอง
๓ เมื่อเขียนผิดแล้ว แทนที่จะแก้ไขให้ถูก กลับอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก คือพากันแปล “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง) ว่า “เวลาคลอด” แล้วอธิบายลากเข้าหาความต่อไปว่า “ประสูติกาล” หมายความว่า “คลอดเมื่อไร” คือพูดถึงว่าเจ้านายผู้หญิงพระองค์นั้นทรงคลอดลูกเมื่อไร ซึ่งฟังเผินๆ ก็ดูคล้ายกับจะสมเหตุสมผล คือเมื่อพูดถึงผู้หญิงคลอดลูก เราก็มักจะพูดกันว่า “คลอดเมื่อไร” คำว่า “คลอดเมื่อไร” มีนัยหมายถึง “เวลาที่คลอด” ซึ่งก็สอดรับกับคำแปลของ “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง) ที่แปลว่า “เวลาคลอด” พอดี
เวลาพูดถึงเจ้านายผู้หญิงคลอดลูก จึงมีผู้ใช้คำว่า “ทรงมีพระประสูติกาล” และเข้าใจกันว่าถูกต้องสืบต่อมา
๔ อันที่จริงเวลาพูดถึงผู้หญิงคลอดลูก สาระไม่ได้มีเพียงแค่ “คลอดเมื่อไร” (ประสูติกาล) อย่างเดียว ยังมีคลอดที่ไหน คลอดอย่างไร คลอดแล้วเป็นอย่างไรเป็นต้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับ “ประสูติกาล” เลย หากแต่เป็นเรื่องของ “ประสูติการ” โดยตรงแท้ๆ แต่กลับพากันไปใช้ “ประสูติกาล” กันอย่างเพลิดเพลิน
๕ ข่าวเจ้าหญิงแคเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ (Catherine, Duchess of Cambridge) แห่งราชวงศ์อังกฤษ ประสูติพระธิดาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ตรวจดูตามสื่อต่างๆ พบว่า ใช้ “ประสูติกาล” (-กาล ล ลิง) กันเกร่อไปหมด เข้าขั้น “ผิดจนถูก” ไปแล้วโดยสมบูรณ์
: แม้ทั้งโลกจะมีแต่คนทำผิด
: แต่วิสัยบัณฑิตย่อมไม่พลอยทำผิดไปกับโลก
5-5-58