อนาถ (บาลีวันละคำ 1,081)
อนาถ
ภาษาไทยอ่านว่า อะ-หฺนาด
บาลีอ่านว่า อะ-นา-ถะ
“อนาถ” รูปคำประกอบขึ้นจาก น + นาถ
(๑) “น” (นะ)
แปลว่า ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี
“น” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” ศัพท์จำพวกนี้ไม่แจกรูปด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ แต่อาจเปลี่ยนแปลงโดยหลักเกณฑ์อื่นได้
(๒) “นาถ” (นา-ถะ)
รากศัพท์มาจาก นาถฺ (ธาตุ = ประกอบ, ขอร้อง, ปรารถนา, เป็นใหญ่, ทำให้ร้อน) + อ ปัจจัย
: นาถฺ + อ = นาถ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้กอปรประโยชน์แก่ผู้อื่น”
(2) “ผู้ขอร้องคนอื่นให้บำเพ็ญประโยชน์นั้นๆ”
(3) “ผู้ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ควรช่วยเหลือ”
(4) “ผู้เป็นใหญ่กว่าผู้ที่ควรช่วยเหลือ” (ผู้ช่วยเหลือย่อมอยู่เหนือผู้รับการช่วยเหลือ)
(5) “ผู้ยังกิเลสให้ร้อน” (เมื่อจะช่วยเหลือคนอื่น ความตระหนี่ ความเกียจคร้านเป็นต้นจะถูกแผดเผาจนทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้)
“นาถ” ความหมายที่เข้าใจกันคือ ที่พึ่ง, ผู้ปกป้อง, การช่วยเหลือ (protector, refuge, help)
น + นาถ น่าจะเป็น “นนาถ”
แต่กฎบาลีไวยากรณ์บอกว่า “น” เมื่อประสมข้างหน้าคำอื่น = น + :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ- อา- อิ- อี- อุ- อู- เอ- โอ-) แปลง น เป็น อน– เช่น :
น + อามัย = อนามัย
น + เอก = อเนก
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น :
น + นิจจัง = อนิจจัง
น + มนุษย์ = อมนุษย์
น + นาถ
“นาถ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ (น-) ตามกฏจึงต้องแปลง “น” เป็น “อ”
: น + นาถ = อนาถ
“อนาถ” แปลว่า ไม่ใช่ที่พึ่ง, ไม่เป็นที่พึ่ง, ไร้ที่พึ่ง, ไม่มีผู้ปกป้อง, ยากจน (helpless, unprotected, poor)
“อนาถ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อนาถ” และ “อนาถา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อนาถ : (คำกริยา) สงสาร, สังเวช, สลดใจ. (ป., ส. อนาถ ว่า ไม่มีที่พึ่ง).
(2) อนาถา : (คำวิเศษณ์) ไม่มีที่พึ่ง, กําพร้า, ยากจน, เข็ญใจ. (ป., ส. อนาถ).
: ไม่มีที่พึ่ง = อนาถใจ
: มีที่พึ่ง แต่พึ่งไม่ได้ = สลดใจ
: มีที่พึ่ง แล้วอยู่มาวันหนึ่งที่พึ่งกลายเป็นภัย = สยองใจ
6-5-58