บาลีวันละคำ

พิพากษา (บาลีวันละคำ 1,088)

พิพากษา

อ่านว่า พิ-พาก-สา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิพากษา : (คำกริยา) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ตัดสินคดีโดยศาล, เรียกตุลาการผู้ทำหน้าที่ตัดสินดังกล่าวว่า ผู้พิพากษา, เรียกคำตัดสินนั้นว่า คำพิพากษา. (ส. วิวกฺษา ว่า ความสำคัญ).”

พจน.54 บอกว่า คำนี้สันสกฤตเป็น “วิวกฺษา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิวกฺษา : (คำนาม) ‘วิวักษา,’ ความปรารถนา, ความใคร่; ความปรารถนาจะพูด; wish, desire; the wish to speak.”

วิวกฺษา” เทียบบาลีเป็น “ววกฺขา” (วะ-วัก-ขา) คำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “ววกฺขติ” (วะ-วัก-ขะ-ติ) แปลว่า ปรารถนาจะพูด, ปรารถนาจะเรียก (to wish to call)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า call (n. vi. vt.) ไว้ว่า –

1. ร้อง, ร้องขอ, ร้องเรียก, เรียกว่า, เห็นว่า, ประมาณว่า

2. เรียกเงินค่าหุ้น, เรียกไพ่ bridge, ปลุก, สั่ง, เรียก, ออกคำสั่ง, นำมาใช้, มาหา, ไปเยี่ยม, แวะรับ

ในภาษาไทยมีคำที่มาจากรากเดียวกันอีก 3 คำ (ตาม พจน.54) คือ

(1) พิพากษ์ = ตัดสิน

(2) วิพากษ์ = พิจารณาตัดสิน

(3) วิพากษ์วิจารณ์ = วิจารณ์, ติชม

อาจมีมูลมาจากเมื่อศาลจะตัดสินคดี จะต้อง “เรียก” โจทก์จำเลยเข้ามาฟังคำพิพากษา คำว่า “ววกฺขา-วิวกฺษา-วิพากษ์-พิพากษา” จึงกลายความหมายเป็น “พิจารณาตัดสิน” ไปในที่สุด

วิถีแห่งผู้พิพากษา :

: วิถีแห่งบัณฑิต คือไต่สวนความผิดแล้วจึงตัดสิน

: วิถีแห่งมนุษย์ยุคหิน คือตัดสินโดยไม่ต้องไต่สวน

13-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย