บาลีวันละคำ

เอกลักษณ์ (บาลีวันละคำ 1,089)

เอกลักษณ์

(บาลีไทย)

อ่านว่า เอก-กะ-ลัก

ประกอบด้วย เอก + ลักษณ์

(๑) “เอก

บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: อิ > เอ + ณฺวุ > อก = เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน

เอก” หมายถึง “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

(๒) “ลักษณ์

บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น

: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, รอย, คุณภาพ, ลักษณะ (ตรงตามที่ต้องการ), ปกติ (ที่จะต้องเป็นเช่นนั้น)

เอก + ลกฺขณ = เอกลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า “ลักษณะอย่างเดียวกัน

เอกลกฺขณ ใช้ในภาษาไทยเป็น “เอกลักษณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เอกลักษณ์ : (คำนาม) ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน; (คำที่ใช้ในคณิตศาสตร์) ข้อความที่แสดงความเท่ากันของนิพจน์ ๒ นิพจน์ สําหรับทุกค่าของตัวไม่ทราบค่าที่ปรากฏในนิพจน์นั้น ๆ. (อ. identity).”

พจน.54 บอกว่า คำว่า “เอกลักษณ์” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า identity

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า identity ว่า เหมือนกัน, เช่นเดียวกัน, ถือว่าเหมือนกัน, ถือว่าเป็นอันเดียวกัน, พิสูจน์ว่าเป็นคนเดียวกัน

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล identity เป็นบาลีไว้ดังนี้ :

(1) ekībhāva เอกีภาว (เอ-กี-พา-วะ) = ความเป็นอย่างเดียวกัน

(2) abheda อเภท (อะ-เพ-ทะ) = ไม่แยกจากกัน, ไม่แตกต่างกัน

(3) nibbisesa นิพฺพิเสส (นิบ-พิ-เส-สะ) = ไม่แปลกไปจากกัน

(4) samānattā สมานตฺตา (สะ-มา-นัด-ตา) = ความเสมอกัน, ความเหมือนกัน

เรามักเข้าใจกันว่า “เอกลักษณ์” หมายถึงลักษณะเด่น, ลักษณะที่ไม่เหมือนใคร (และไม่มีใครเหมือน) แต่ถ้าดูตามคำแปลและความหมายต่างๆ ที่นำมาแสดงไว้นี้ จะเห็นว่า “เอกลักษณ์” หมายถึง ลักษณะเดียวกัน คือเป็นคนเดียวกันหรือเป็นพวกเดียวกันนั่นเอง

: พวกเดียวกันที่ทำร้ายพวกเดียวกันย่อมไม่ใช่พวกเดียวกัน

14-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย