บาลีวันละคำ

ไพบูลย์ (บาลีวันละคำ 1,103)

ไพบูลย์

อ่านว่า ไพ-บูน

บาลีเป็น “เวปุลฺล” อ่านว่า เว-ปุน-ละ

เวปุลฺล” ปรุงรูปมาจาก “วิปุล” (วิ-ปุ-ละ)

(1) “วิปุล” รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปุลฺ (ธาตุ = มาก, ใหญ่) + ปัจจัย

: วิ + ปุลฺ + = วิปุล (เป็นคำคุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “มีมาก” หรือ “ใหญ่” หมายถึง ใหญ่, กว้างขวาง, ยิ่งใหญ่, ล้นเหลือ (large, extensive, great, abundant)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

วิปุล : (คำคุณศัพท์) ‘วิบุล,’ ใหญ่, กว้าง; ลึก, ซึ้ง; large, great, broad; deep, profound;- (คำนาม) เมรุบรรพต; ภูเขาหิมาลัย; นรผู้ควรบูชา; พสุธา; the mountain Meru; the Himālaya mountain; a respectable man; the earth.”

(2) วิปุล + ณฺย ปัจจัย, ลบ , แปลง ที่ (วิปุ)- กับ ที่ (ณฺ)- เป็น ลฺล , แผลง อิ ที่ วิ-(ปุล) เป็น เอ

: วิปุลฺ + ณฺย = วิปุลณฺย > วิปุลย > วิปุลฺล > เวปุลฺล (เป็นคำนาม) แปลว่า ความเพิ่มพูน, ความอุดมสมบูรณ์, ความล้นเหลือ, ความเต็มเปี่ยม (full development, abundance, plenty, fullness)

เวปุลฺล” สันสกฤตเป็น “ไวปุลฺย” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ไพบูลย์

สังเกตการกลายรูป :

(1) วิปุลฺ (+ ณฺย = วิปุลณฺย, ลบ ) > วิปุลย (บาลีกลายต่อไปเป็น > วิปุลฺล > เวปุลฺล)

(2) จับเฉพาะตอนที่เป็น “วิปุลย” ของบาลี ตามข้อ (1) มาเทียบสันสกฤต “ไวปุลฺย” จะเห็นว่าเป็นรูปเดียวกัน คือ –

: วิปุลย (แผลง อิ เป็น เอ) > เวปุลย (แปลง เอ เป็น ไอ) > ไวปุลฺย

ต่างตรงที่ วิปุลย ในบาลีไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่กลายรูปต่อไปเป็น วิปุลฺล > เวปุลฺล

(3) อิ เป็น เอ > เอ เป็น ไอ เป็นสูตรสำเร็จระหว่างบาลี > สันสกฤต ทำนองเดียวกับ ในบาลีสันสกฤตเป็น ในภาษาไทย

(4) วิปุล > วิปุลย > เวปุลย > ไวปุลฺย > ไพบูลย์

(5) คำอื่นๆ เช่น วิบุล วิบูล วิบุลย์ วิบูลย์ พิบุล พิบูล ที่ใช้ในภาษาไทย มาจากรากเดียวกันกับ วิปุล > เวปุลฺล > ไวปุลฺย > ไพบูลย์

ทราบไว้เป็นความรู้ :

ในวรรณคดีบาลี ศัพท์ “เวปุลฺล” มักใช้ร่วมกันเป็นชุดกับ “วุฑฺฒิ” (วุด-ทิ) และ “วิรุฬฺหิ” (วิ-รุน-หิ) : วุฑฺฒิ วิรุฬฺหิ เวปุลฺล

เช่น –

วุฑฺฒึ วิรุฬฺหิ เวปุลฺลํ

ปปฺโปตุ พุทฺธสาสเน.

ขอจงบรรลุถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

วุฑฺฒิ = ความเจริญ

วิรุฬฺหิ = ความงอกงาม

เวปุลฺล = ความเพิ่มพูน > ไพบูลย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไพบูลย์ : (คำนาม) ความเต็มเปี่ยม, ความเต็มที่. (คำวิเศษณ์) เต็มเปี่ยม, เต็มที่. (ส. ไวปุลฺย; ป. เวปุลฺล).”

: เพียงแต่ชื่อ “ไพบูลย์” เท่านั้น

: ยังไม่ใช่หลักประกันว่าจะมีสติสัมปชัญญะไพบูลย์

28-5-58

ต้นฉบับ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย