จุติ – ปฏิสนธิ (บาลีวันละคำ 1,119)
จุติ – ปฏิสนธิ
คำที่มักเข้าใจคลาดเคลื่อน
(๑) “จุติ”
บาลีอ่านว่า จุ-ติ รากศัพท์มาจาก จุ (ธาตุ = เคลื่อนที่) + ติ ปัจจัย
: จุ + ติ = จุติ แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อนที่” หมายถึง การตาย, การเคลื่อนจากภพหนึ่งไปยังอีกภพหนึ่ง (vanishing, passing away, passing from one existence to another)
ว่าโดยอรรถของคำแล้ว แม้การย้ายจากที่เดิมไปยังที่ใหม่ หรือการพ้นจากตำแหน่ง ก็อยู่ในความหมายของ “จุติ” ได้ด้วย
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “จุติ” (อ่านว่า จุ-ติ ก็ได้ จุด-ติ ก็ได้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จุติ : (คำกริยา) เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา). (ป.; ส. จฺยุติ).”
(๒) “ปฏิสนธิ”
บาลีเป็น “ปฏิสนฺธิ” (มีจุดใต้ นฺ, อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ทิ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ธา (ธาตุ = เชื่อมต่อ) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิต (ที่ สํ) เป็น น, ลบสระที่ ธา (ธา > ธ)
: ปฏิ + สํ > สนฺ + ธา = ปฏิสนฺธา > ปฏิสนฺธ + อิ = ปฏิสนฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาอันเขาเชื่อมต่อกลับ” “ต่อกลับ” คือ กลับไปต่อหรือกลับไปเริ่มต้นอีก หมายถึง เกิด, เกิดใหม่
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิสนฺธิ” ว่า reunion (of vital principle with a body), reincarnation, metempsychosis (การถือกำเนิดใหม่, การไปสู่ร่างใหม่)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ปฏิสนธิ” (ปะ-ติ-สน-ทิ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิสนธิ : (คำแบบ) (คำกริยา) เกิดในท้อง, ถือกําเนิด. (ป. ปฏิสนฺธิ).”
ปรับความเข้าใจ :
๑ คำว่า “จุติ” มักเข้าใจผิดและใช้กันผิดๆ ในความหมายว่า “เกิด”
“จุติ” ไม่ได้แปลว่า “เกิด” แต่แปลว่า “เคลื่อน” ในทางธรรมหมายถึงสิ้นสภาพจากความเป็นบุคคลนี้ไปสู่สภาพอื่น ซึ่งหมายถึง “ตาย” นั่นเอง
๒ ในภาษาไทย “จุติ” มักใช้กับเทวดา เช่นพูดว่า “เทวดาจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์” ไม่นิยมพูดว่า “มนุษย์จุติไปเกิดเป็นเทวดา” แต่ในภาษาบาลีใช้ได้ทุกภพภูมิ
๓ “ปฏิสนธิ” หมายถึง เริ่มกำเนิดใหม่ ในทางธรรมท่านว่าเมื่อจุติ (ตาย) แล้วต้องปฏิสนธิ (เกิด) ทันที จะเกิดเป็นอะไรอยู่ในสภาวะไหนย่อมเป็นไปตามแรงส่งของกรรมที่ผู้นั้นทำ
๔ มีคนเชื่อว่า บางคนตายแล้ว “ยังไม่ได้ไปเกิด” เช่นอ้างว่าวิญญาณยังสิงอยู่ที่นั่นที่นี่ อ้างต่อไปว่า เคยสำแดงปรากฏการณ์ให้คนเห็นบ้าง มาเข้าฝันบอกญาติพี่น้องบ้าง มีผู้ทำนายทายทักบอกบ้าง เป็นต้น
ตามหลักธรรมแล้ว ที่เรียกว่า “วิญญาณยังสิงอยู่ที่นั่นที่นี่” นั้น ย่อมไม่ใช่บุคคลเดิม เพราะบุคคลนั้นสิ้นสภาพจากความเป็นบุคคลเดิมไปแล้ว ก็คือไปเกิดเป็น “วิญญาณ” (ตามที่เรียก) นั้นๆ เรียบร้อยแล้วนั่นเอง
๕ ตามหลักของการเกิด ชีวิตจะประกอบด้วยจิต 3 ขณะ คือ –
(1) “ปฏิสนธิ” จิตขณะแรกที่ถือกำเนิด สำหรับทุกชีวิตจิตดวงนี้เกิดขึ้นและดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดภวังคะ
(2) “ภวังคะ” จิตที่ดำรงภพชาติ รับช่วงมาจากปฏิสนธิ เกิด-ดับ-เกิด-ดับ ตลอดเวลา ทำให้ยังไม่ตาย
(3) “จุติ” จิตดวงสุดท้าย เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำหน้าที่ “เคลื่อน” ชีวิตในภพภูมิปัจจุบันไป และเป็นปัจจัยให้เกิด “ปฏิสนธิ” หรือ “กลับไปต่อ” วงจรชีวิตในภพภูมิใหม่อีก
ถ้ายังตัดวงจร ปฏิสนธิ > ภวังคะ > จุติ > ปฏิสนธิ … ไม่ได้
ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตาย เวียนสุขเวียนทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด
สัจธรรม :
: ตายแล้วไม่เกิด มี
: แต่เกิดแล้วไม่ตาย ไม่มี
18-6-58