อาสน์สงฆ์ [2] (บาลีวันละคำ 1,123)
อาสน์สงฆ์ [2]
ไม่ควรเป็น “อาสนะสงฆ์”
และไม่ใช่ “อาสนสงฆ์”
“อาสน์สงฆ์” คือ อาสน์ + สงฆ์ อ่านว่า อาด-สง
(๑) “อาสน์”
บาลีเป็น “อาสน” (อา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก :
(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง”
(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส, ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)
“อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)
(๒) “สงฆ์”
บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ, แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” (ส่วนย่อยที่มารวมกันนั้นไม่แตกต่างกัน) (2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน”
“สงฺฆ” สะกดเป็น “สํฆ” (ไม่แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ) ก็มี
ในภาษาบาลี “สงฺฆ” ใช้ในความหมายว่า –
(1) ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง (multitude, assemblage)
(2) คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร (the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church)
(3) กลุ่มใหญ่, ประชาคม (a larger assemblage, a community)
อาสน เขียนแบบไทยเป็น “อาสน์” (การันต์ ที่ น) อ่านว่า อาด
สงฺฆ เขียนแบบไทยเป็น “สงฆ์” (การันต์ ที่ ฆ) อ่านว่า สง
อาสน์ + สงฆ์ = อาสน์สงฆ์ อ่านว่า อาด-สง เป็นการเอาคำบาลีมาประสมแบบไทย แปลตามศัพท์ว่า “ที่นั่งสำหรับพระสงฆ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาสน์สงฆ์ : (คำนาม) ที่ยกพื้นสําหรับพระสงฆ์นั่ง.”
อภิปราย :
๑ คำว่า “อาสน์สงฆ์” เป็นคำเก่าที่ใช้จนลงตัวเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว เขียนเป็น “อาสน์สงฆ์” (การันต์ ที่ น) อ่านว่า อาด-สง คนไทยทั่วไปและคนที่รู้ภาษาไทยดีพอสมควรจะเข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง
๒ คนรุ่นใหม่ที่ไม่สันทัดภาษาไทย แต่พอจะรู้คำบาลีคำนี้ เห็นคำว่า “อาสน์-” ไม่คุ้นกับการสะกดแบบนี้ เข้าใจแต่ว่าคำนี้คือ “อาสนะ” แปลว่า ที่นั่ง และคุ้นกับการออกเสียงว่า อา-สะ-นะ อาจเข้าใจต่อไปว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องการันต์ที่ น ในเมื่อสามารถอ่านได้ว่า อา-สะ-นะ- และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องอ่านว่า อาด จึงแก้จาก “อาสน์สงฆ์” เป็น “อาสนะสงฆ์”
๓ เหตุตามข้อ ๒ นั้น เกิดจากการไม่ได้ศึกษาเรียนรู้คำเก่าให้เข้าใจ ตัวอย่างคำเทียบที่เห็นได้ชัดคือคำว่า “จำวัด” คนสมัยนี้ไม่เข้าใจว่าหมายถึง “พระนอนหลับ” แต่เข้าใจ (ไปตามที่ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้) ว่า “อยู่ประจำที่วัด” และพากันใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่า “อยู่ประจำที่วัด” กันทั่วไปหมดชนิดที่ไม่ยอมลืมตามองไปข้างหลังแต่อย่างใดทั้งสิ้น นี้ฉันใด
๔ คำว่า “อาสนะสงฆ์” (อา-สะ-นะ-สง) ก็ฉันนั้น เกิดจากการไม่รับรู้ว่าท่านใช้ว่า “อาสน์สงฆ์” (อาด-สง) มาแต่ไหนแต่ไร และคำว่า “อาสน์สงฆ์” นี้ก็ยังไม่ได้ทำความผิดหรือมีความบกพร่องอะไรที่จะต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ที่บกพร่องจริงๆ ก็คือคนเปลี่ยนไม่ได้ศึกษาคำเก่าให้เข้าใจนั่นเอง
๕ ผลสืบเนื่องที่เกิดจากการแก้คำสะกดเป็น “อาสนะสงฆ์” ก็คือ เกิดการอภิปรายกันว่า เมื่อสะกดอย่างนี้จะถือว่าเป็นคำสมาสหรือไม่ ถ้าเป็นคำสมาสก็มีสระ อะ (ประวิสรรชนีย์) กลางศัพท์ไม่ได้ คือควรจะสะกดเป็น “อาสนสงฆ์” ตามกฎของคำสมาส
๖ แต่ก็เกิดข้อถกเถียงต่อไปอีกว่าคำสมาสควรแปลจากข้างหลังไปหน้า แต่ “อาสนสงฆ์” จะต้องแปลจากข้างหน้าไปหลังจึงจะได้ความตามต้องการ กลายเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษากันต่อไปอีกว่าคำสมาสแปลจากข้างหน้าไปหลังได้หรือไม่
๗ คำที่หมายถึง “ที่นั่งสำหรับพระสงฆ์” ถ้าต้องการใช้ศัพท์เป็นคำสมาส จำเป็นอย่างไรหรือจึงจะต้องเอาคำว่า “อาสน” ไว้หน้า เอาคำว่า “สงฆ์” ไว้หลัง ทำไมไม่เอาคำว่า “สงฆ” ไว้หน้า เอาคำว่า “อาสน” ไว้หลังตามหลักพื้นฐานของคำสมาส คือเป็น –
สงฆ + อาสน = สงฆาสน > สังฆาสน์
เทียบกับคำว่า
ธรรม + อาสน = ธรรมาสน > ธรรมาสน์ ซึ่งก็มีใช้อยู่
๘ คนเก่าท่านไม่มีความรู้เรื่องสมาสกระนั้นหรือ จึงแทนที่จะใช้ “สังฆาสน์” (สัง-คาด) ท่านกลับใช้เป็น “อาสน์สงฆ์” (อาด-สง) และไม่ใช่ “อาสนะสงฆ์” หรือ “อาสนสงฆ์” อย่างที่มีผู้แก้ให้คลาดเคลื่อนนั้นด้วย
ขอฝากให้คิดเป็นการบ้านกันต่อไป เทอญ
———
อดีต :
โบราณถืออาสน์สงฆ์ว่าศักดิ์สิทธิ์
ควรสถิตแต่สงฆ์ผู้ทรงศีล
ปัจจุบัน :
ทุรชนคนร้ายปลอมป่ายปีน
เหยียบรอยตีนเต็มอาสน์อนาถเอย
———–
(เนื่องมาจากคำปรารภของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
22-6-58