บาลีวันละคำ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (บาลีวันละคำ 1,126)

สมบูรณาญาสิทธิราชย์

อ่านว่า สม-บู-ระ-นา-ยา-สิด-ทิ-ราด

ประกอบด้วย สมบูรณ + อาญา + สิทธิ + ราชย์

(๑) “สมบูรณ

บาลีเป็น “สมฺปูรณ” (สำ-ปู-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) แปลงนิคหิตเป็น มฺ + ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม, ทำให้เต็ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง อน เป็น อณ

: สํ > สมฺ + ปูรฺ = สมฺปูร + ยุ > อน = สมฺปูรน > สมฺปูรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความเต็มพร้อม” “การทำให้เต็มพร้อม” คือ เต็มหมดทุกอย่าง, มีพร้อมหมดทุกอย่าง

สมฺปูรณ ใช้ในภาษาไทยว่า “สมบูรณ์” (สม-บูน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมบูรณ์ : (คำกริยา) บริบูรณ์ เช่น สมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ สมบูรณ์ด้วยข้าทาสบริวาร, ครบถ้วน เช่น หลักฐานยังไม่สมบูรณ์; อ้วนท้วน, แข็งแรง, เช่น เขาสมบูรณ์ขึ้น เดี๋ยวนี้สุขภาพเขาสมบูรณ์ดีแล้ว. (คำวิเศษณ์) มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะครบถ้วน เช่น มีคุณสมบัติสมบูรณ์ตามที่กำหนด; อ้วนท้วน, แข็งแรง, เช่น มีร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพสมบูรณ์. (ส.).”

(๒) “อาญา

บาลีเป็น “อาณา” (อา-นา) รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง อาญา อาณา และ อาชญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาญา : (คำนาม) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คดีที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามกฎหมายอาญา เรียกว่า คดีอาญา แตกต่างกับคดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิส่วนเอกชน ซึ่งเรียกว่า คดีแพ่ง.”

(๓) “สิทธิ

บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สิด-ทิ) รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ

: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง (accomplishment, success, prosperity)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิทธิ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (อ. right)”

ภาษาไทยเอาคำว่า “อาญา” กับ “สิทธิ์” (สิด) มาสมาสกันเป็น “อาญาสิทธิ์” (อา-ยา-สิด) แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จที่เกิดจากอำนาจ” แต่ใช้ตามความหมายในภาษาไทยดังที่ พจน.54 บอกไว้ว่า –

อาญาสิทธิ์ : (คำนาม) อํานาจเด็ดขาด คือ สิทธิที่แม่ทัพได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไปสงครามเป็นต้น, อาชญาสิทธิ์ ก็ว่า, โดยมีสิ่งสําคัญคือพระแสงดาบเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า พระแสงอาญาสิทธิ์ หรือ พระแสงอาชญาสิทธิ์.”

(๔) “ราชย์

คำเดิมมาจาก “ราช” (รา-ชะ) รากศัพท์มาจาก :

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ปัจจัย, ลบ , ลบ , แผลง เป็น รา

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รชณ > รช >ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน

ราช + ณฺย ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น ะ, แปลง ณฺย กับ เป็น ชฺช

: ราช + ณฺย = ราชณฺย > ราชฺช > รชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นพระราชา” “ภาวะแห่งพระราชา” “ภาวะแห่งผู้มีอำนาจ

รชฺช ในบาลี เป็น “ราชฺย” ในสันสกฤต (โปรดสังเกตขั้นตอนหนึ่งในบาลีที่เป็น “ราชณฺย” จะเห็นว่าใกล้เคียงกับ “ราชฺย”)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ราชฺย : (คำนาม) ‘ราชย์,’ อาธิปัตย์, ราชอาณา; การปกครอง; a kingdom; administration of sovereignty or government.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราชย์ : (คำนาม) ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ, เช่น ขึ้นครองราชย์ เสวยราชย์. (ส.; ป. รชฺช).”

สมบูรณ + อาญาสิทธิ + ราชย์ = สมบูรณาญาสิทธิราชย์

เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า absolute monarchy

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ : (คำนาม) ระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอํานาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ.”

: เผด็จการที่ครองธรรม

: ดีกว่าประชาธิปไตยระยำครองอำนาจ

————–

(ตามคำเสนอของพระคุณท่าน ศุภกิจ โกมินทร์)

25-6-58

ต้นฉบับ