อัตลักษณ์ (บาลีวันละคำ 1,131)
อัตลักษณ์
อ่านว่า อัด-ตะ-ลัก
ประกอบด้วย อัต + ลักษณ์
(๑) “อัต”
บาลีเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :
(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (อตฺต เป็นรูปคำเดิม อตฺตา เป็นรูปคำที่แจกวิภัตติ)
“อตฺตา” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)
“อตฺตา” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ
อตฺตา ในภาษาไทยใช้เป็น “อัตตา”
(๒) “ลักษณ์”
บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง น เป็น ณ
: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง”
๒) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ, ลักษณะ (ตรงตามที่ต้องการ), ปกติ (ที่จะต้องเป็นเช่นนั้น)
“ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ลักษณะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”
อตฺต + ลกฺขณ = อตฺตลกฺขณ เขียนแบบไทย ตัด ต ออกตัวหนึ่ง เป็น “อัตลักษณ์” แปลตามศัพท์ว่า “ลักษณะของตน” “ลักษณะเฉพาะตน”
“อัตลักษณ์” เป็นศัพท์บัญญัติในภาษาไทย ยังไม่พบรูปคำเช่นนี้ในคัมภีร์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำว่า “อัตลักษณ์” ไว้
อภิปราย :
๑ บางท่านว่า “อัตลักษณ์” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า identity แต่บางท่านว่าบัญญัติจากคำว่า character
ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่า “อัตลักษณ์” บัญญัติเทียบคำอังกฤษคำไหนกันแน่
๒ คำอังกฤษ 2 คำนั้น พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยไว้ดังนี้ (คัดมาเฉพาะความหมายที่ใกล้เคียงกัน)
(1) identity : ชื่อเสียง, หลักฐาน; รูปพรรณ
– identification : เหมือนกัน, เช่นเดียวกัน, ถือว่าเหมือนกัน, ถือว่าเป็นอันเดียวกัน, พิสูจน์ว่าเป็นคนเดียวกัน
(2) character : นิสัย, หลักความประพฤติ; บุคคลมีชื่อ, ชื่อเสียง; ตัวในเรื่อง, ลักษณะ, ฐานะ
– characterization : แสดงลักษณะ, เป็นเครื่องหมาย, อธิบายลักษณะ, เห็นว่า, วาดนิสัย, วางนิสัยตัวละคร
๓ มีคำที่มักพูดถึงคู่กันกับ “อัตลักษณ์” คือ “เอกลักษณ์” (เอก-กะ-ลัก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เอกลักษณ์ : (คำนาม) ลักษณะที่เหมือนกันหรือมีร่วมกัน; (คำที่ใช้ในคณิตศาสตร์) ข้อความที่แสดงความเท่ากันของนิพจน์ ๒ นิพจน์ สําหรับทุกค่าของตัวไม่ทราบค่าที่ปรากฏในนิพจน์นั้น ๆ. (อ. identity).”
๔ ถ้า “เอกลักษณ์” บัญญัติจาก identity “อัตลักษณ์” ก็ควรจะมาจาก character
๕ คำอังกฤษ 2 คำนั้น พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีไว้ดังนี้ :
– identity :
(1) ekībhāva เอกีภาว (เอ-กี-พา-วะ) = ความเป็นอย่างเดียวกัน
(2) abheda อเภท (อะ-เพ-ทะ) = ไม่แยกจากกัน, ไม่แตกต่างกัน
(3) nibbisesa นิพฺพิเสส (นิบ-พิ-เส-สะ) = ไม่แปลกไปจากกัน
(4) samānattā สมานตฺตา (สะ-มา-นัด-ตา) = ความเสมอกัน, ความเหมือนกัน
– character :
(1) sabhāva สภาว (สะ-พา-วะ) = “ภาวะของตน” > บุคคลนั้นๆ หรือสิ่งนั้นๆ เป็นจริงอย่างไร ก็แสดงอาการนั้นๆ ให้ปรากฏ
(2) abhiññātapuggala อภิญฺญาตปุคฺคล (อะ-พิน-ยา-ตะ-ปุก-คะ-ละ) = บุคคลที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้คนอื่นรู้จักเฉพาะตัว, คนที่มีชื่อเสียง
(3) visesalakkhaṇa วิเสสลกฺขณ (วิ-เส-สะ-ลัก-ขะ-นะ) = ลักษณะที่แปลกจากคนอื่นสิ่งอื่น > ลักษณะเฉพาะตัว
๖ พิจารณาความหมายทั้งจากอังกฤษเป็นไทยและอังกฤษเป็นบาลี พอจะสรุปได้ว่า –
(1) เอกลักษณ์ (identity) = ลักษณะเดียวกัน, ลักษณะที่ทำให้รู้ได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน, ลักษณะที่ตรงกัน
(2) อัตลักษณ์ (character) = ลักษณะเฉพาะตัว, ลักษณะที่แตกต่างไปจากคนอื่นสิ่งอื่น, ลักษณะที่โดดเด่น
หมายเหตุ : เป็นความเห็นเฉพาะในวง “บาลีวันละคำ” เท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะสนับสนุนหรือโต้แย้งความเห็นในวงอื่นๆ
อัตลักษณ์ของบัณฑิต :
: ทำบุญ แม้จะไม่มีใครกราบ
: ก็ไม่ทำบาปเพื่อให้คนไหว้
————
(ตามคำถามของท่านอาจารย์ Parnarai Sapayaprapa และคำขอของ Somphol Chaisiriroj)
30-6-58