บาลีวันละคำ

ปัจฉิมลิขิต (บาลีวันละคำ 1,133)

ปัจฉิมลิขิต

อ่านตามหลักภาษาว่า ปัด-ฉิม-มะ-ลิ-ขิด

ประกอบด้วย ปัจฉิม + ลิขิต

(๑) “ปัจฉิม

บาลีเป็น “ปจฺฉิม” อ่านว่า ปัด-ฉิ-มะ รากศัพท์ประกอบด้วย ปจฺฉา (ภายหลัง) + อิม (อิ-มะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ (ปจฺฉ-) (ปจฺฉา > ปจฺฉ)

: ปจฺฉา > ปจฺฉ + อิม = ปจฺฉิม แปลตามศัพท์ว่า “-ที่มีในภายหลัง

ปจฺฉิม” หมายถึง :

(1) หลังที่สุด, อยู่ข้างหลัง, หลัง, สุดท้าย, รั้งท้าย (hindmost, hind- , back- , last, latest)

(2) ทางตะวันตก (western)

(3) ต่ำที่สุด, เลวที่สุด (lowest, meanest)

ปจฺฉิม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัจฉิม” ถ้าใช้เดี่ยวๆ อ่านว่า ปัด-ฉิม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ปัด-ฉิม-มะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉิม, ปัจฉิม– : (คำวิเศษณ์). ตะวันตก; ภายหลัง, ทีหลัง, ข้างหลังสุด. (ป. ปจฺฉิม).”

(๒) “ลิขิต

บาลีอ่านว่า ลิ-ขิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ลิขฺ (ธาตุ = เขียน) + อิ อาคม + ปัจจัย

: ลิขฺ + อิ + = ลิขิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาเขียนแล้ว” (อักษรหรือข้อความที่ถูกเขียนขึ้น)

ลิขิต” ในภาษาไทยอ่านว่า ลิ-ขิด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ลิขิต : (คำนาม) หนังสือ, จดหมาย, (นิยมใช้เฉพาะจดหมายของพระสงฆ์). (คำกริยา) เขียน, กำหนด, เช่น พระพรหมได้ลิขิตชีวิตไว้แล้ว. (ป., ส.).”

ปัจฉิม + ลิขิต = ปัจฉิมลิขิต

ปัจฉิมลิขิต” เป็นคำที่ผูกขึ้นในภาษาไทยเทียบคำอังกฤษว่า postscript

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉิมลิขิต [ปัดฉิม-]: (คำนาม) “เขียนภายหลัง” คือหนังสือที่เขียนเพิ่มเติมลงท้ายเมื่อเซ็นชื่อแล้ว, ใช้อักษรย่อว่า ป.ล.”

ข้อสังเกต :

๑ พจน.54 บอกคำอ่าน “ปัจฉิมลิขิต” ไว้ว่า [ปัดฉิม-] (ดูข้อความที่ยกมาข้างบน) คือให้อ่านว่า ปัด-ฉิม-ลิ-ขิด (ไม่มีเสียง –มะ– เชื่อมระหว่างคำ) ไม่ใช่ ปัด-ฉิม-มะ-ลิ-ขิด

คำอื่นๆ ที่ขึ้นต้นด้วย ปัจฉิม– และมีคำอื่นสมาสข้างท้าย ที่เก็บไว้ใน พจน.54 คือ ปัจฉิมชน ปัจฉิมทิศ ปัจฉิมพรรษา ปัจฉิมภาค ปัจฉิมยาม ปัจฉิมวัย ปัจฉิมวาจา พจน.54 บอกคำอ่านว่า ปัด-ฉิม-มะ- (มีเสียง –มะ– เชื่อมระหว่างคำ) ทุกคำ

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่อาจหยั่งรู้เหตุผลของ พจน.54 ได้ว่า ทำไมจึงไม่บอกคำอ่าน “ปัจฉิมลิขิต” ว่า ปัด-ฉิม-มะ-ลิ-ขิด (มีเสียง –มะ– เชื่อมระหว่างคำ) ทั้งๆ ที่เป็นคำสมาสเหมือนกับคำอื่นๆ จึงได้บอกไว้ข้างต้นว่าคำนี้ “อ่านตามหลักภาษาว่า ปัด-ฉิม-มะ-ลิ-ขิด”

ข้อสังเกตคือ หลายๆ คำใน พจน.54 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือแบบที่อ่านถูกตามหลักภาษา และแบบที่อ่านผิดตามความนิยม

แต่คำว่า “ปัจฉิมลิขิต” ซึ่งควรอ่านตามหลักภาษาว่า ปัด-ฉิม-มะ-ลิ-ขิด (มีเสียง –มะ– เชื่อมระหว่างคำ) กลับบอกคำอ่านไว้เพียงแบบเดียว [ปัดฉิม-] คือแบบที่อ่านผิด (ตามความนิยม) แต่ไม่บอกคำอ่านแบบที่อ่านถูกตามหลักภาษา [ปัดฉิมมะ-]

คำอ่านคำนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่-ผิดกลายเป็นถูก และถูกกลายเป็นผิด

๒ “ปัจฉิมลิขิต” เมื่อเขียนเป็นคำย่อ พจน.54 บอกว่า “ใช้อักษรย่อว่า ป.ล.” คือมีจุดทั้งที่ ป และ ล

เท่าที่เห็นส่วนมาก มักเขียนผิดเป็น “ปล.” คือมีจุดตัวเดียวที่ ล

เพราะฉะนั้น จึงควรเขียนย่อให้ถูกตาม พจน. เพราะถ้าเขียนเป็น “ปล.” (มีจุดตัวเดียวที่ ล) กันมากๆ ราชบัณฑิตฯ ท่านก็จะต้องแก้คำนิยามใน พจน.ใหม่ เป็น

“…. ใช้อักษรย่อว่า ป.ล., ย่อว่า ปล. ก็มี”

ดังนี้ เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ท่านโดยไม่จำเป็น !!

………

: ไม่ว่าจะเขียนก่อนหรือเขียนภายหลัง

: ถ้าจะให้ขลัง จงอย่าเขียนคำเท็จ

2-7-58

ต้นฉบับ