บาลีวันละคำ

ชั่วกัปชั่วกัลป์ (บาลีวันละคำ 1,137)

ชั่วกัปชั่วกัลป์

อ่านว่า ชั่ว-กับ-ชั่ว-กัน

กัป” บาลีเป็น “กปฺป” อ่านว่า กับ-ปะ

กัลป์” สันสกฤตเป็น “กลฺป” อ่านว่า กัน-ลฺปะ, (กลืนเสียง -ละ- หายลงในลำคอ)

กปฺปกลฺป มีความหมายเหมือนกัน

(๑) ความรู้ทางภาษา

กปฺป” รากศัพท์มาจาก กปฺป (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺป + = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ

(2) บังเหียน, เครื่องประกอบ, จุดสีดำเล็กๆ, ทำเลศนัย (harness, trapping, a small black dot, a making-up of a trick)

(3) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(4) เวลาที่แน่นอน, เวลาที่กำหนดไว้, อายุของโลก (a fixed time, an age of the world)

(๒) ความรู้ทางคติ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายเรื่องกัปกัลป์ ไว้ดังนี้ –

กัป, กัลป์ : กาลกำหนด, กำหนดอายุของโลก, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาล ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของมนุษย์หรือสัตว์จำพวกนั้นๆ ในยุคนั้นๆ เรียกเต็มว่า ‘อายุกัป’ เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี

ที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นข้อควรรู้ที่พอแก่ความเข้าใจทั่วไป หากต้องการทราบละเอียด พึงศึกษาคติโบราณดังนี้

กัปมี ๔ อย่าง ได้แก่

๑. มหากัป กัปใหญ่ คือ กำหนดอายุของโลก อันหมายถึงสกลพิภพ 

๒. อสงไขยกัป กัปอันนับเวลามิได้ คือ ส่วนย่อย ๔ แห่งมหากัป ได้แก่

๑) สังวัฏฏกัป (เรียกเต็มว่า สังวัฏฏอสงไขยกัป) กัปเสื่อม คือ ระยะกาลที่โลกเสื่อมลงจนถึงวินาศ

๒) สังวัฏฏฐายีกัป (สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป) ระยะกาลที่โลกพินาศแล้วทรงอยู่ 

๓) วิวัฏฏกัป (วิวัฏฏอสงไขยกัป) กัปเจริญ คือ ระยะกาลที่โลกกลับเจริญขึ้น

๔) วิวัฏฏฐายีกัป (วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป) ระยะกาลที่โลกเจริญแล้วทรงอยู่

ครบรอบ ๔ อสงไขยกัปนี้ เป็นมหากัปหนึ่ง

๓. อันตรกัป กัปในระหว่าง ได้แก่ระยะกาลที่หมู่มนุษย์เสื่อมจนส่วนใหญ่พินาศแล้ว ส่วนที่เหลือดีขึ้นเจริญขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้นจนถึงอสงไขย แล้วกลับทรามเสื่อมลง อายุสั้นลงๆ จนเหลือเพียงสิบปีแล้วพินาศ ครบรอบนี้ เป็นอันตรกัปหนึ่ง ๖๔ อันตรกัปเช่นนั้นเป็น ๑ อสงไขยกัป  

๔. อายุกัป กำหนดอายุของสัตว์จำพวกนั้นๆ เช่น อายุกัปของมหาพรหมเท่ากับ ๑ อสงไขยกัป

โดยทั่วไป คำว่า “กัป” ที่มาโดดๆ มักหมายถึงมหากัป แต่หลายแห่งหมายถึงอายุกัป เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ เป็นอย่างดีแล้ว หากทรงจำนง จะทรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัปก็ได้ “กัป” ในที่นี้ หมายถึงอายุกัป คือจะทรงพระชนม์อยู่จนครบกำหนดอายุของคนในยุคนั้นเต็มบริบูรณ์ คือเต็ม ๑๐๐ ปี หรือเกินกว่านั้น ก็ได้  

ตามคติที่บางคัมภีร์ประมวลมาบันทึกไว้ พึงทราบว่า ตลอดมหากัปนั้น พระพุทธเจ้าจะอุบัติเฉพาะแต่ในวิวัฏฏฐายีกัป คือในระยะกาลที่โลกกลับเจริญขึ้น และกำลังทรงอยู่ เท่านั้น และกัปเมื่อจำแนกตามการอุบัติของพระพุทธเจ้า มี ๒ อย่าง ได้แก่

๑. สุญกัป กัปสูญ หรือกัปว่างเปล่า คือ กัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ (รวมทั้งไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิธรรมราชาด้วย)

๒. อสุญกัป กัปไม่สูญ หรือกัปไม่ว่างเปล่า คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ แยกย่อยเป็น ๕ ประเภท ได้แก่

๑) สารกัป (กัปที่มีสาระขึ้นมาได้ โดยมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ) คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติพระองค์เดียว

๒) มัณฑกัป (กัปเยี่ยมยอด) คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๒ พระองค์

๓) วรกัป (กัปประเสริฐ) คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๓ พระองค์

๔) สารมัณฑกัป (กัปที่มีสาระเยี่ยมยอดยิ่งกว่ากัปก่อน) คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๔ พระองค์

๕) ภัทกัป (ภัททกัป หรือภัทรกัป ก็ได้, กัปเจริญ หรือกัปที่ดีแท้) คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๕ พระองค์      

กัปปัจจุบัน เป็นภัทกัป มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระโคตมะ ที่อุบัติแล้ว และพระเมตไตรย์ที่จะอุบัติต่อไป 

ในศาสนาฮินดู ถือว่า ๑ กัป (รูปสันสกฤตเป็น กัลป์) อันเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม (กลางวันเป็นอุทัยกัป คือกัปรุ่ง, กลางคืนเป็นขัยกัป คือกัปมลาย) ตั้งแต่โลกเริ่มต้นใหม่จนประลัยไปรอบหนึ่งนั้น มี ๒,๐๐๐ มหายุค แต่ละมหายุคยาว ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปี โดยแบ่งเป็น ๔ ยุค (จตุยุค, จตุรยุค) เริ่มจากระยะกาลที่มนุษย์มีศีลธรรมและร่างกายสมบูรณ์งดงาม แล้วเสื่อมทรามลง และช่วงเวลาของยุคก็สั้นเข้าตามลำดับ คือ

๑. กฤตยุค ยุคที่โลกอันพระพรหมสร้างเสร็จแล้ว มีความดีงามสมบูรณ์อยู่ ดังลูกเต๋าด้าน ‘กฤต’ ที่มี ๔ แต้ม เป็นยุคดีเลิศ ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปี (สัตยยุค คือยุคแห่งสัจจะ ก็เรียก; ไทยเรียก กฤดายุค)

๒. เตรตายุค ยุคที่มีความดีงามถอยลงมา ดังลูกเต๋าด้าน ‘เตรตา’ ที่มี ๓ แต้ม ยังเป็นยุคที่ดี ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปี (ไทยเรียก ไตรดายุค)

๓. ทวาปรยุค ยุคที่ความดีงามเสื่อมทรามลงไปอีก ดังลูกเต๋าด้าน ‘ทวาปร’ ที่มี ๒ แต้ม เป็นยุคที่มีความดีพอทรงตัวได้ ๘๖๔,๐๐๐ ปี (ไทยเรียก ทวาบรยุค) 

๔. กลียุค ยุคที่เสื่อมทรามถึงที่สุด ดังลูกเต๋าด้าน ‘กลิ’ ที่มีเพียงแต้มเดียว เป็นยุคแห่งความเลวร้าย ๔๓๒,๐๐๐ ปี

———-

ชั่วกัปชั่วกัลป์” หมายความว่า ตลอดเวลาอันยาวนานนักหนา

: ใครเคยทำชั่ว

: จะทำดีแก้ตัว ก็ยังพอมีเวลา

6-7-58

ต้นฉบับ