อัสมิมานะ (บาลีวันละคำ 1,148)
อัสมิมานะ
อ่านว่า อัด-สะ-มิ-มา-นะ
บาลีเป็น “อสฺมิมาน” อ่านว่า อัด-สฺมิ-มา-นะ
ประกอบด้วย อสฺมิ + มาน
(๑) “อสฺมิ”
รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อ ปัจจัย + มิ วิภัตติอาขยาต
: อสฺ + อ + มิ = อสฺมิ แปลตามศัพท์ว่า “อหํ = อันว่าเรา อสฺมิ = ย่อมมี, ย่อมเป็น” มีความหมายว่า มีเรา เป็นเรา นี่เรานะ นี่กูนะ
(๒) “มาน”
อ่านว่า มา-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มานฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย
: มานฺ + อ = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ให้เขาบูชา” (คือต้องการให้เขานับถือ)
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้, คิด, เข้าใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ม-(น) เป็น อา
: มนฺ + ณ = มนณ > มน > มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สำคัญตนว่าดีกว่าเขาเป็นต้น”
(3) มา (ธาตุ = นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: มา + ยุ > อน = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้เขานับถือตน”
“มาน” ในที่นี้ มีความหมายว่า –
(1) ความถือตัว, ความหยิ่ง, ความยโส (pride, conceit, arrogance)
(2) เกียรติ, การนับถือ (honour, respect)
อสฺมิ + มาน = อสฺมิมาน แปลตามศัพทว่า “การถือตัวว่าเป็นเรา”
อสฺมิมาน เขียนในภาษาไทยเป็น “อัสมิมานะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัสมิมานะ : (แบบ = คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) มานะว่าเป็นเรา, การถือเขาถือเรา. (ป.)”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
“อัสมิมานะ : การถือว่านี่ฉัน นี่กู กูเป็นนั่นเป็นนี่, การถือเราถือเขา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อสฺมิมาน” ว่า pride of self, real egoism (การหยิ่งหรือภูมิใจในตัวเอง, การอวดดื้อถือดี)
แด่ลูกพี่ทั้งหลาย :
: ถ้าไม่มีลูกน้อง ท่านจะใหญ่กับใคร ?
—————–
(ตามความประสงค์ของพระคุณท่าน Samai Chairsa)
17-7-58