บาลีวันละคำ

อุจจาสยนมหาสยนะ (บาลีวันละคำ 1,160)

อุจจาสยนมหาสยนะ

อ่านว่า อุด-จา-สะ-ยะ-นะ-มะ-หา-สะ-ยะ-นะ

ประกอบด้วย อุจจาสยน + มหาสยนะ

(๑) “อุจจาสยน” (อุด-จา-สะ-ยะ-นะ)

บาลีเขียน “อุจฺจาสยน” (มีจุดใต้ จฺ ตัวแรก) ประกอบด้วย อุจฺจา + สยน

(1) “อุจฺจา” รูปคำเดิม: อุจฺจ รากศัพท์มาจาก

(ก) อุ (ขึ้น, สูง) + จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น (จิ > จย), แปลง จย (คือ จิ > จย) เป็น จฺจ

: อุ + จิ = อุจิ > อุจฺย + = อุจฺย > อุจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ก่อขึ้น

(ข) อุ (ขึ้น, สูง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง อิ เป็น (อิ > ), แปลง เป็น จฺจ

: อุ + อิ > = อุย + = อุย > อุจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ไปข้างบน

อุจฺจ” หมายถึง สูง (high)

(2) “สยน” (สะ-ยะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = นอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ สิ เป็น (สิ > สย), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สิ > สย + ยุ > อน = สยน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่นอน” (2) “การนอน

“สยน” หมายถึง การนอน, การนอนหลับ (lying down, sleeping); เตียง, ที่นอน (bed, couch)

อุจฺจ > อุจฺจา + สยน = อุจฺจาสยน แปลว่า ที่นอนสูง

(๒) “มหาสยน” (มะ-หา-สะ-ยะ-นะ) ประกอบด้วย มหา + สยน

มหา” รูปคำเดิม: มหนฺต รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เจริญขึ้น” หมายถึง ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ บางทีใช้ในความหมายว่า “มาก” (very much, greatly)

เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์แล้ว ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

มหนฺต + สยน = มหาสยน แปลว่า ที่นอนใหญ่

อุจฺจาสยน + มหาสยน = อุจฺจาสยนมหาสยน เขียนแบบไทย : อุจจาสยนมหาสยนะ หมายถึง (การนั่งนอน) บนที่นอนสูงที่นอนใหญ่

ข้อสังเกต :

คำว่า “อุจฺจา” = สูง และ “มหา-” = ใหญ่ ชวนให้นึกถึงคำพูดติดปากในภาษาไทยที่ว่า “สูงใหญ่” เช่น รูปร่างสูงใหญ่

คำว่า “สูงใหญ่” อาจได้รับอิทธิพลมาจาก “อุจจา-มหา-” ก็เป็นได้

…….

ในคัมภีร์ท่านจำกัดความไว้ว่า

อุจจาสยนะ หมายถึง ที่นอนที่มีขนาดสูงใหญ่เกินประมาณ

มหาสยนะ หมายถึง ที่นอนที่ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดอันหรูหรา

และหมายรวมถึง “ที่นั่ง” ด้วย

อุจจาสยนมหาสยนะ” (การนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่) เป็นศีลข้อที่ 9 ในศีล 10 และเป็นศีลข้อที่ 8 ในศีล 8

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “อุจจาสยนมหาสยนะ” มี 3 คือ :

(1) อกปฺปิยธารตา ใช้สอยที่นั่งที่นอนมีนุ่นและสำลีเป็นต้นในภายในและวิจิตรงามต่างๆ

(2) ปมาณาติกฺกนฺตมญฺจปีฐตา ที่นั่งที่นอนมีเท้าสูงเกินประมาณ คือเกินสิบนิ้ว หนึ่งกระเบียดช่างไม้

(3) อภินิสีทนํ  วา  อภินิปชฺชนํ  วา นั่งหรือนอนบนที่นั่งที่นอนมีที่มีลักษณะเช่นว่านั้น

: คนดี นอนกลางดินก็สบาย

: คนร้าย นอนบนฟูกก็เป็นทุกข์

———-

คำบอกกล่าว :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เขียนถ้อยคำที่ใช้ในศีล ๘ หรือศีลอุโบสถติดต่อกันมาจนครบทั้ง ๘ ข้อ ด้วยเจตนาที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรที่มีกุศลศรัทธาตั้งใจจะสมาทานศีลอุโบสถภายในพรรษากาลอันกำลังจะมาถึงนี้ อย่างน้อยได้ถือเอาเป็นความรู้เบื้องต้นแล้วขวนขวายศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

ยังหลงไปข้อหนึ่ง คือ “อพรหมจริยา” ซึ่งเป็นข้อที่ ๓ แทน กาเมสุมิจฉาจาร ในศีล ๕ ซึ่งจะได้เขียนในวันพรุ่งนี้

ผู้เขียนบาลีวันละคำขออภัยญาติมิตรอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากคำพวกนี้มักจะไม่ได้พบเห็นในภาษาไทยทั่วไป แต่หวังว่าท่านจะอนุโมทนากับญาติมิตรที่ตั้งใจบำเพ็ญบุญพิเศษประจำเทศกาลเข้าพรรษา ขอให้ได้ประสบอานิสงส์สมความปรารถนาทุกประการ

29-7-58

ต้นฉบับ