กรรมพันธุ์ (บาลีวันละคำ 1,169)
กรรมพันธุ์
อ่านว่า กำ-มะ-พัน
ประกอบด้วย กรรม + พันธุ์
(๑) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ก-) และ ร ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > –มฺม)
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
(๒) “พันธุ์”
บาลีเป็น “พนฺธุ” (พัน-ทุ) รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อุ ปัจจัย
: พนฺธฺ + อุ = พนฺธุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน”
“พนฺธุ” หมายถึง –
(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)
(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)
กมฺม + พนฺธุ = กมฺมพนฺธุ นิยมแปลกันว่า มีกรรมเป็นพวกพ้อง, มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมพนฺธุ” ว่า having karma as one’s relative, i. e. closely tied to one’s karma (มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ ผูกพันอยู่กับกรรมของตนอย่างใกล้ชิด)
กมฺมพนฺธุ ใช้ในภาษาไทยเป็น “กรรมพันธุ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรมพันธุ์ : (คำวิเศษณ์) มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง. (คำนาม) ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการบางอย่างที่ลูกหลานสืบมาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่, พันธุกรรม ก็ว่า. (ส. กรฺม + พนฺธุ; ป. กมฺมพนฺธุ = “มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์” เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง).”
ในทางธรรม “กมฺมพนฺธุ – กรรมพันธุ์” มีความหมายว่า เมื่อทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ผลของกรรมนั้นจะติดตามเหมือนพวกพ้องที่ล้อมอยู่รอบตัวเจ้าของกรรม กรรมดีคอยส่งเสริมให้สดใสสุขสันต์ กรรมชั่วคอยซัดซ้ำให้ซวดเซ ราวกับเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกันฉะนั้น
เพื่อนเดินทาง :
เดินทางกลางวนวังสังสารวัฏ
ทิ้งสมบัติไปแต่เดียวเปลี่ยวไฉน
มีแต่กรรมเป็นเพื่อนคอยเตือนใจ
อยากได้เพื่อนอย่างใด-ก็ทำเอา
11-8-58