บาลีวันละคำ

ปริเทวนาการ (บาลีวันละคำ 1,173)

ปริเทวนาการ

อ่านว่า ปะ-ริ-เท-วะ-นา-กาน

ประกอบด้วย ปริเทวน + อาการ

(๑) “ปริเทวน” (ปะ-ริ-เท-วะ-นะ)

รากศัพท์มาจาก ปริ (แทนศัพท์ “ปุนปฺปุนํ” = บ่อยๆ, ร่ำไร) + ทิวุ (ธาตุ = ร้อง) ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(วุ) เป็น เอ (ทิวุ > เทวุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ทิวุ > ทิว)

: ปริ + ทิวุ = ปริทิวุ > ปริเทวุ > ปริเทว + ยุ > อน = ปริเทวน แปลตามศัพท์ว่า “การร้องบ่อยๆ” หมายถึง การแสดงความเศร้าโศก, การคร่ำครวญ, การร่ำไรรำพัน (lamentation, wailing)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริเทวนะ, ปริเทวะ : (คำนาม) ความครํ่าครวญ, ความรําพันด้วยเสียใจ, ความบ่นเพ้อ. (ป.).”

ในภาษาบาลี ปริเทวน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “ปริเทวนา” ก็ได้

(๒) “อาการ

บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: อา + กรฺ = อากร + = อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “อาการ” ไว้ว่า –

(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.

(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.

ปริเทวน + อาการ = ปริเทวนาการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการคือความครํ่าครวญ

ข้อสังเกต :

๑ คำว่า “อาการ” ที่ต่อท้ายเช่นนี้เป็นเพียงการหลากคำ ความหมายคงมีเฉพาะที่คำหน้า “ปริเทวนาการ” จึงหมายถึง ความร่ำไรรำพัน, ความคร่ำครวญ, ความรำพันด้วยเสียใจ, ความบ่นเพ้อ เท่าความหมายของ “ปริเทวน” นั่นเอง

๒ ในภาษาไทยมักมีผู้ใช้คำผิดเป็น “ปริเวทนาการ” คือไปเข้าใจ “-เทวนา-” เป็น “-เวทนา-” ความจริงแล้วเป็นคนละคำกันทีเดียว ในภาษาบาลีมีคำว่า “เวทนา” แต่ไม่มีคำว่า “ปริเวทนา” มีแต่คำว่า “ปริเทวนา

: ถ้าใช้สิทธิ์หัวเราะไปแล้ว

: ก็หมดสิทธิ์ปฏิเสธการร้องไห้

15-8-58

ต้นฉบับ