ปฏิภาณ (บาลีวันละคำ 1,183)
ปฏิภาณ
ภาษาไทยอ่านว่า ปะ-ติ-พาน
บาลีอ่านว่า ปะ-ติ-พา-นะ
“ปฏิภาณ” รากศัพท์มาจาก ปฏิ (เฉพาะ, เฉพาะหน้า, ตอบ) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: ปฏิ + ภา = ปฏิภา + ยุ > อน = ปฏิภาน > ปฏิภาณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้สิ่งที่ควรรู้สว่างขึ้นเฉพาะหน้า” = เมื่อต้องการรู้สิ่งที่ควรรู้ ก็มี “สิ่งนั้น” เกิดขึ้นทำให้สิ่งที่ควรรู้นั้นสว่างไสวแจ่มแจ้งขึ้นมาต่อหน้า จึงเรียก “สิ่งนั้น” ว่า “ปฏิภาณ”
ในภาษาบาลีคำนี้สะกดเป็น “ปฏิภาน” (-ภาน น หนู) ก็มี คือแปลง ยุ เป็น อน แต่ไม่แปลง น เป็น ณ นั่นเอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิภาณ” ว่า understanding, illumination, intelligence; readiness or confidence of speech, promptitude, wit (ความเข้าใจ, การให้ความสว่าง, ความฉลาด; ความคล่องหรือความมั่นใจในการพูด, ความฉับพลัน, ไหวพริบ, เชาวน์)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปฺรติภาน : (คำนาม) ‘ประติภาน,’ ความกล้า, ความบังอาจหรือทะเล้น; ประภา, ความงาม, ความสุกใส; boldness, audacity; brilliancy.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “ปฏิภาณ” เป็นอังกฤษว่า perspicuity; sagacity; shrewdness; ready wit.
โปรดสังเกตว่า คำแปล “ปฏิภาณ” เป็นภาษาอังกฤษของพจนานุกรมฉบับต่างๆ ไม่ตรงกันเลย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิภาณ, ปฏิภาณ-: (คำนาม) เชาวน์ไวในการกล่าวแก้หรือโต้ตอบเป็นต้นได้ฉับพลันทันทีและแยบคาย. (ป.).”
“ปฏิภาณ” เป็นลักษณะของกวีประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ปฏิภาณกวี” คือกวีผู้มีความสามารถในการใช้ปฏิภาณแต่งกลอนสดได้แคล่วคล่องว่องไว
ในทางธรรม “ปฏิภาณ” เป็นลักษณะของปฏิสัมภิทา ( = ปัญญาแตกฉานในเรื่องต่างๆ) ประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ปฏิภาณปฏิสัมภิทา” หมายถึง ปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ คือ ความเข้าใจทำให้สามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ในเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือกล่าวโต้ตอบได้ทันท่วงที
: รู้ทันคนนั้นดีแน่
: แต่ที่ดีแท้ๆ คือรู้ทันใจตน
25-8-58