อำมาตย์ (บาลีวันละคำ 1,189)
อำมาตย์
อ่านว่า อำ-หฺมาด
“อำมาตย์” บาลีเป็น “อมจฺจ” (อะ-มัด-จะ) รากศัพท์มาจาก อมา (ร่วมกัน) + จฺจ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ (อ)-มา เป็น อะ (อมา > อม)
: อมา + จฺจ = อมาจฺจ > อมจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นร่วมกันกับพระราชาในกิจทั้งปวง”
“อมจฺจ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เพื่อน, สหาย, เพื่อนร่วมงาน, ผู้ช่วยเหลือ, ผู้ให้คำแนะนำ, เพื่อนสนิท (friend, companion, fellow-worker, helper, one who gives his advice, a bosom-friend)
(2) ราชอำมาตย์, ราชวัลลภ, ราชปุโรหิต (a king’s intimate friend, king’s favourite, king’s confidant)
(3) ผู้ถวายคำแนะนำพิเศษหรือองคมนตรี ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐมนตรี (king’s special adviser or privy councillor, as such distinguished from the official ministers)
“อมจฺจ” ในบาลี เป็น “อมาตฺย” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“อมาตฺย : (คำนาม) มนตรี; อุปเทศก (ที่ปรึกษา); minister; counselor.”
ภาษาไทยใช้ตามสัสกฤตเป็น “อมาตย์” และแผลงเป็น “อำมาตย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อมาตย์ : (คำนาม) อำมาตย์, ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส.; ป. อมจฺจ).
(2) อำมาตย-, อำมาตย์ : (คำนาม) ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส. อมาตฺย; ป. อมจฺจ). (แผลงมาจาก อมาตย์).
“อำมาตย์” ในความรู้สึกของคนไทยมักจะเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระราชา หรือเป็นผู้ได้รับพระราชทานยศศักดิ์และมีตำแหน่งหน้าที่ทำราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ
แต่ “อำมาตย์” ในความหมายที่แท้จริง คือ ผู้ให้คำแนะนำ ผู้เสนอแนะหรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของมิตรสหาย รวมตลอดถึงปัญหาของบ้านเมือง
สำหรับผู้ไม่ชอบ “อำมาตย์” มีคำแนะนำว่า โปรดงดเว้นการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาของบ้านเมือง เพราะ –
: แสดงความเห็นต่อปัญหาของชาติ
: นั่นแหละเป็น “อำมาตย์” ไปแล้วในตัว
31-8-58