เสถียร (บาลีวันละคำ 1,201)
เสถียร
อ่านว่า สะ-เถียน
“เสถียร” บาลีเป็น “ถิร” (ถิ-ระ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + อิร ปัจจัย, ลบ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ), แปลง ฐ เป็น ถ
: ฐา > ฐ + อิร = ฐิร > ถิร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ดำรงอยู่”
“ถิร” ในบาลีเป็น “สฺถิร” ในสันสกฤต ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤต แต่แปลงรูปเป็น “เสถียร”
ชวนสังเกต :
รูปสระ “อิร” “อีร” ในบาลีนิยมแปลงเป็น “เอียร” ในภาษาไทย เช่น –
จิร = เจียร (นาน, ช้านาน, ยืนนาน)
ชีร = เชียร (แก่ครํ่าคร่า, ชํารุด)
ธีร = เธียร (นักปราชญ์, ฉลาด)
วชิร = วิเชียร (วชิระ, สายฟ้า; เพชร; อาวุธพระอินทร์)
วีร = เวียร > เพียร (ความบากบั่น, พยายาม)
สิร > ศิร = เศียร (ศีรษะ, หัว)
และ ถิร > สถิร = เสถียร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เสถียร, เสถียร– : (คำวิเศษณ์) มั่นคง, แข็งแรง, คงตัว. (ส. สฺถิร; ป. ถิร).”
เวลานี้เรามักได้ยินคำพูดว่า “เน็ตไม่เสถียร” ในความหมายว่า คลื่นจากอินเทอร์เน็ตไม่สม่ำเสมอ ขาดๆ หายๆ
“เสถียร” คำนี้ใช้ภาษาอังกฤษว่า stable (ไม่เสถียร = unstable)
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล stable ว่า มั่นคง, ทำให้สม่ำเสมอ, เสถียรภาพ
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล stable เป็นบาลีว่า –
(1) thira ถิร (ถิ-ระ) = มั่นคง
(2) acala อจล (อะ-จะ-ละ) = ไม่หวั่นไหว, ภูเขา
(3) thāvara ถาวร (ถา-วะ-ระ) = ถาวร, มั่นคง
(4) dhuva ธุว (ทุ-วะ) = ยั่งยืน
(5) ciraṭṭhāyī จิรฏฺฐายี (จิ-รัด-ถา-ยี) = ดำรงอยู่ยืนนาน
(6) akampiya อกมฺปิย (อะ-กำ-ปิ-ยะ) = ไม่หวั่นไหว
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ถิร” ว่า solid, hard, firm; strenuous, powerful (แข็ง, แน่นอน, มั่นคง; หนัก, มีพลังอำนาจ)
(ไม่มีคำแปลเป็นอังกฤษว่า stable)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สฺถิร : (คำคุณศัพท์) อันมั่นคง, อันไม่เคลื่อนที่; แข็ง; นิตย์, สถายินหรือคงทน; เย็น; สัตย์ซื่อ; firm, immovable; hard or solid; permanent; durable; cool; faithful.”
(ไม่มีคำแปลเป็นอังกฤษว่า stable)
: ถ้าจิตไม่เสถียร
: เพียงลมพัดเปลวเทียน ก็ฟั่นเฟือน
: ถ้าจิตเสถียรในธรรมเป็นที่ตั้ง
: ถึงร้อยทุกข์มากระทบกระทั่ง ก็ไม่กระเทือน
12-9-58