บาลีวันละคำ

พระราชมณเฑียร (บาลีวันละคำ 2,510)

พระราชมณเฑียร

ไฉนจึงยังเขียนแบบโบราณ

อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-มน-เทียน

ประกอบด้วยคำว่า พระ + ราช + มณเฑียร

(๑) “พระ

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๓) “มณเฑียร

บาลีเป็น “มนฺทิร” (มัน-ทิ-ระ) รากศัพท์มาจาก มนฺทฺ (ธาตุ = เบิกบาน) + อิร ปัจจัย

: มนฺทฺ + อิร = มนฺทิร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เบิกบานใจแห่งผู้คน” หมายถึง บ้าน, อาคาร, วัง (a house, edifice, palace)

มนฺทิร” ในภาษาไทยใช้เป็น “มนเทียร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนเทียร : (คำนาม) เรือนหลวงซึ่งใช้เป็นที่ประทับประจำของพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชมนเทียร, โบราณใช้ว่า พระราชมณเฑียร. (ป., ส. มนฺทิร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “(ป., ส. มนฺทิร)” หมายความว่า คำว่า “มนเทียร” นี้ ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็น “มนฺทิร” เหมือนกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มนฺทิร : (คำนาม) แผลงใช้เปน – ‘มนเทียร,’ บ้าน, เรือน; เมือง; วิหาร; ทเล; ปฤษฐภาคของเข่า; โรงรถ; โรงม้า; a house; a town; a temple; sea; the bact part of knee; a stable.”

การประสมคำ :

ราช + มณเฑียร = ราชมณเฑียร (ราด-ชะ-มน-เทียน) แปลว่า “เรือนของพระราชา

พระ + ราชมณเฑียร = พระราชมณเฑียร

เติมคำว่า “พระ” เข้าข้างหน้าแสดงความยกย่องของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 54 อธิบายคำว่า “เฉลิมพระราชมณเฑียร” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีข้อความดังนี้

…………..

๖. เฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ ๖ พฤษภาคม พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพิธีเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอันเป็นพระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร เปรียบเสมือนการขึ้นบ้านใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุข โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ประทับแรม ๑ คืน

เครื่องประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ประกอบด้วยเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร และเครื่องราชูปโภค

เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง ต่อมาสิ่งของสำหรับการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรได้เพิ่มมากขึ้น เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือกผู้ สมัยรัชกาลที่ ๗ มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี ผู้อุ้มไก่ขาวจะเป็นผู้เชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้งนี้แต่โบราณกำหนดให้ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน

เครื่องราชูปโภค ประกอบด้วย พระสุพรรณศรี พานพระศรี พานพระโอสถและพานพระมาลา

…………..

อภิปราย :

คำว่า “มณเฑียร” ทุกแห่งในหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” สะกดด้วย เณร มณโฑ

หลักภาษาก็ชัดเจนว่า คำนี้ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็น “มนฺทิร” ( หนู ทหาร) ไม่ใช่ “มณฺฑิร

พจนานุกรมฯ ก็บอกไว้ชัดว่า “มณเฑียร” เป็นคำโบราณ คือเป็นการสะกดตามแบบโบราณ ปัจจุบันสะกดเป็น “มนเทียร” ตามหลักภาษาแล้ว แต่หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ก็ยังสะกดตามแบบโบราณอยู่นั่นเอง นับว่าชอบกลอยู่

เนื่องจากหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” สะกดคำนี้เป็น “มณเฑียร” ( เณร มณโฑ) บาลีวันละคำคำนี้ จำต้องอนุวัตรตามเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับเอกสารของทางราชการอันว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

และเนื่องจากที่คำว่า “มนเทียร” พจนานุกรมฯ บอกว่า คือ “เรือนหลวงซึ่งใช้เป็นที่ประทับประจำของพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชมนเทียร”

บาลีวันละคำไม่ได้ตั้งคำว่า “มณเฑียร” หรือ “ราชมณเฑียร” แต่ตั้งคำว่า “พระราชมณเฑียร” เพื่ออนุวัตรตามพจนานุกรมฯ

ถ้ามีสิทธิ์แสดงความเห็นได้ ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่ขอร้องให้ผู้จัดทำเอกสารของทางราชการสะกดคำนี้ตามพจนานุกรมฯ ดีกว่าที่จะถอยหลังไปสะกดแบบโบราณ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้ชีพนี้มีทุกข์เป็นเรือนจำ

: ก็ขอจงมีธรรมเป็นเรือนใจ

#บาลีวันละคำ (2,510)

27-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย