โลกทัศน์ (บาลีวันละคำ 1,205)
โลกทัศน์
อ่านว่า โลก-กะ-ทัด
ประกอบด้วยคำว่า โลก + ทัศน์
(๑) “โลก” (บาลีอ่านว่า โล-กะ)
๑) ในแง่ภาษา
1 “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
2 “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
3 “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + อ ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่”
4 “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อ ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”
๒) ในแง่ความหมาย
1. โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
2. โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
3. โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
4. โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
5. โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
6. โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”
(๒) “ทัศน์”
บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –
(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)
(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”
โลก + ทัศน์ = โลกทัศน์ แปลตามศัพท์ว่า “การมองเห็นโลก”
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 บอกไว้ว่า –
……..
คำว่า “โลกทัศน์” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า world view หมายถึง การมองเห็นโลก การรับรู้โลก การที่คนแต่ละคนตีความสิ่งต่าง ๆ ในโลกหรือมองว่าสรรพสิ่งในโลกมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร
ทั้งนี้ คนเราจะมีโลกทัศน์อย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในสังคมของตน เช่น คนตะวันตกกับคนตะวันออกมีโลกทัศน์ต่างกัน. การท่องเที่ยวทำให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างไกลและปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีขึ้น.
……..
คำว่า “โลกทัศน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
: ถ้ากิเลสยังครองใจ
แม้โลกทัศน์จะกว้างไกล
ก็มองไปไม่พ้นตนเอง
16-9-58