บาลีวันละคำ

กษิณาลัย (บาลีวันละคำ 1,206)

กษิณาลัย

คำสนุกๆ

มีรายงานว่า ในงานเลี่ยงส่งก่อนวันเกษียณอายุราชการมีผู้ใช้ชื่องานว่า “กษิณาลัย” จึงขอให้เขียนถึงคำนี้

ตามรูปศัพท์ “กษิณาลัย” อ่านว่า กะ-สิ-นา-ไล

ประกอบด้วย กษิณ + อาลัย

(๑) “กษิณ

เข้าใจว่าผู้คิดคำนี้แปลงมาจากคำว่า “เกษียณ

เกษียณ” บาลีเป็น “ขีณ” (ขี-นะ) สันสกฤตเป็น “กฺษีณ” (โปรดสังเกต -ษี- สระอี ไม่ใช่ -ษิ-) เพราะฉะนั้น ถ้ายังคิดจะใช้คำนี้ก็ควรเป็น “กษีณาลัย

ขีณ” บาลี แปลกันว่า “ความสิ้นไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า destroyed, exhausted, removed, wasted, gone (ทำลาย, ทำให้หมด, เคลื่อนย้าย, ทำให้เสียเปล่า, สิ้นไป)

กษีณ” สันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

กฺษีณ : (คำนาม) บาง, ผอม, ไม่มีแรง; หมดเปลืองไป; ร่อยหรอไป; อันพินาศ, อันศูนย์หายไป; อันต้องเบียดเบียน, แตกหัก; ขาดวิ่น; อันพ่ายแพ้หรือต้องหักลงแล้ว; อนาถา, ยากจน; thin, emaciated, feeble; wasted; worn away, destroyed, lost; injured, broken; torn; subdued or suppressed; poor, miserable.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกษียณ : (คำกริยา) สิ้นไป (ใช้เกี่ยวกับการกําหนดอายุ) เช่น เกษียณอายุราชการ. (ส. กฺษีณ; ป. ขีณ).”

คำว่า “เกษียณ” ในภาษาไทย เดิมใช้ในความหมายว่า “สิ้นกําหนดเวลารับราชการ” คำเต็มเรียกว่า “เกษียณอายุราชการ” ต่อมาพูดสั้นลงมาว่า “เกษียณอายุ” แล้วตัดเหลือแค่ “เกษียณ

ต่อมาความหมายขยายจาก “รับราชการ” ไปถึงการทำงานกับบริษัท ห้างร้าน เอกชน แล้วขยายต่อไปถึงการทำงานทั่วไป

เวลานี้ “เกษียณ” กลายความหมายไปเป็น หยุด, ล้มเลิก, ยกเลิก, เลิกกิจการ, เลิกทำ

(๒) “อาลัย

บาลีเป็น “อาลย” (อา-ละ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา ( = ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น (ลิ > ลย

: อา + ลิ > ลย = อาลย + = อาลย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่

นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย

ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, บ้านเรือน (abode settling place, house)

ในทางนามธรรม “อาลย” หมายถึงความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความรักใคร่, ความต้องการ สรุปรวมก็คือ ตัณหา ราคะ หรือกิเลสทั้งหลาย (attachment, desire, clinging, lust)

นอกจากนี้ “อาลย” ยังมีความหมายไปถึงวิธีการเพื่อให้ได้สมปรารถนาอีกด้วย คือหมายถึงการแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว (pretence, pretext, feint)

อาลย” ในภาษาไทยใช้ว่า “อาลัย” มีความหมายตรงตามบาลี คือหมายถึงห่วงใย, พัวพัน, ระลึกถึงด้วยความเสียดาย

กษีณ + อาลัย = กษีณาลัย แปลตามประสงค์ในภาษาไทยว่า “อาลัยผู้ที่เกษียณ

กษีณาลัย” เป็นคำที่เอาภาษาไทยมาคิดเป็นบาลีสันสกฤต ถ้าแปลตรงตามศัพท์กลับเป็นไทย ความหมายก็กลายไปเป็นคนละเรื่อง คือแปลว่า “ที่อยู่ของสิ่งที่เสื่อมสิ้นไป

อุปมาพอให้เป็นที่ครึกครื้นก็เหมือน mango water flower = มะม่วงน้ำดอกไม้

: จะมีใครอาลัย หรือไม่มีใครอาลัย

: ทุกคนก็ต้องไปตามกรรม

————–

(ตามคำขอของพระคุณท่าน ปริญช์ ชุติญาณวงษ์)

17-9-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย