บาลีวันละคำ

นามบัตร (บาลีวันละคำ 2,153)

นามบัตร

อ่านว่า นาม-บัด

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า นาม + บัตร

(๑) “นาม

บาลีอ่านว่า นา-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (นมฺ > นาม)

: นมฺ + = นมณ > นม > นาม แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำที่ชาวโลกใช้เป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ” หมายถึง นาม, ชื่อ (name)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นาม, นาม– : (คำนาม) ชื่อ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาม; คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ สําหรับเรียกคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ; สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ, คู่กับ รูป. (ป.).”

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

นาม + บัตร = นามบัตร แปลตามศัพท์ว่า “แผ่นแสดงชื่อ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นามบัตร : (คำนาม) แผ่นกระดาษค่อนข้างแข็งและเล็กเป็นต้นที่พิมพ์บอกชื่อตัว นามสกุล หรือที่อยู่ที่ทํางานไว้เพื่อแนะนําตัวเป็นต้น.”

การใช้ “นามบัตร” คงจะเป็นวัฒนธรรมของชาวตะวันตก แล้วก็นิยมใช้กันไปทั่วโลก

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “นามบัตร” เป็นอังกฤษว่า visiting card

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล visiting card เป็นบาลีว่า :

nāmādyaṅkitapaṇṇa นามาทยงฺกิตปณฺณ (นา-มา-เทียง-กิ-ตะ-ปัน-นะ) = แผ่นประกาศชื่อเป็นต้น

ข้อสังเกต :

คำว่า “นาม” พจนานุกรมฯ แสดงรูปคำไว้ 2 รูป (ดูข้างต้น) คือ “นาม” (ไม่มีขีดท้ายคำ) บอกคำอ่านว่า นาม และ “นาม-” (มีขีดท้ายคำ หมายถึงกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “นามบัตร”) บอกคำอ่านว่า นาม-มะ-

คำว่า “นามบัตร” นี้ ตามหลักการอ่านคำสมาสจึงต้องอ่านว่า นาม-มะ-บัด แต่คนทั่วไปมักอ่านว่า นาม-บัด พจนานุกรมฯ ก็บอกคำอ่านว่า นาม-บัด

ใครเรียก “แผ่นแสดงชื่อ” ว่า นาม-มะ-บัด จะรู้สึกว่าผิดปกติ และจะกลายเป็นพูดผิดทันที

คำอ่าน “นามบัตร” ว่า นาม-บัด จึงเป็นตัวอย่าง “ผิดจนถูก” อีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นามบัตรช่วยทำให้คนจำ

: แต่คุณธรรมทำให้คนนับถือ

#บาลีวันละคำ (2,153)

5-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *