บาลีวันละคำ

ธุระ (บาลีวันละคำ 1,214)

ธุระ

บาลีเขียน “ธุร” อ่านว่า ทุ-ระ

ธุร” รากศัพท์มาจาก –

(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ), ลบ พฺพ (ธุพฺพ > ธุ)

: ธุพฺพิ > ธุพฺพ + อร = ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” คือเบียดเบียนผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องให้ต้องลำบากลากเข็นนำพาไป

(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุร)

: ธรฺ + = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้” คือยังจะต้องลากเข็นนำพาไป ยังวางลงไม่ได้

ธุร” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)

(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)

(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)

(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)

(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)

ธุร” ในภาษาไทย ถ้าใช้เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ เขียนว่า “ธุระ” (ประวิสรรชนีย์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธุร-, ธุระ : (คำนาม) หน้าที่การงานที่พึงกระทํา, กิจในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ และ การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ; (ปาก) เรื่องส่วนตัว เช่น ไม่ใช่ธุระของคุณ. (ป., ส.).”

ขยายความเพิ่มเติม :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

(1) คันถธุระ : ธุระฝ่ายคัมภีร์, ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์, การศึกษาปริยัติธรรม, เป็นคำที่ใช้ในชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก).

(2) วิปัสสนาธุระ : ธุระฝ่ายวิปัสสนา, ธุระด้านการเจริญวิปัสสนา, กิจพระศาสนาในด้านการสอนการฝึกเจริญกรรมฐาน ซึ่งจบครบที่วิปัสสนา, เป็นคำที่ใช้ในชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก).

: ธุระที่สุดประเสริฐ

: คือทำเสร็จแล้วไม่ต้องเกิดอีกต่อไป

25-9-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย